เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
» ลูกพูดไม่ชัด ปัญหาที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม
01 Jun 2017 11:35
ปัญหาลูกพูดไม่ชัดเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ปกครองหลายคนมองข้าม เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยจึงไม่ได้ให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวอาจเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อเด็กได้ในระยะยาวและการใช้ชีวิตในสังคม
โดยปกติแล้วเด็กจะเริ่มพูดได้เป็นคำที่มีความหมายในช่วงอายุ 1 ปี เช่น แม่ หม่ำ ไป มา เป็นต้น และจะเริ่มพูดได้เป็นประโยคในช่วงอายุ 2 ปี พอเริ่มเข้าสู่อายุ 3-4 ปี ลิ้นจะทำงานได้ดีขึ้น เด็กก็จะเริ่มออกเสียง ร.เรือ ล.ลิง ได้ โดยเด็กจะเริ่มออกเสียงชัดเจนในพยัญชนะต่างๆ ตามช่วงวัย ได้แก่ ช่วงอายุ 2.1-2.6 ปี เสียงพยัญชนะที่พูดได้ชัดคือ ม, น, ห, ย, ค, อ ช่วงอายุ 2.7-3 ปี เสียงพยัญชนะที่พูดได้ชัดจะเพิ่มเสียง ว, บ, ก, ป เข้าไป ช่วงอายุ 3.1-3.6 ปี เพิ่มเสียง ท, ต, ล, จ, ผ ช่วงอายุ 3.7-4 ปี เพิ่มเสียง ง, ค ช่วงอายุ 4.1-4.6 ปี เพิ่มเสียง ฟ ช่วงอายุ 4.7-5 ปี เพิ่มเสียง ช ช่วงอายุ 5.1-5.6 เพิ่มเสียง ส และอายุ 7 ปีขึ้นไป เพิ่มเสียง ร วิธีสังเกตว่าลูกมีปัญหาเรื่องพูดไม่ชัดหรือไม่นั้น ให้สังเกตตามอายุดังกล่าวว่าเด็กมีการออกเสียงพยัญชนะได้ตามนี้หรือไม่ หากไม่เป็นไปตามข้อมูลนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเด็กมีความเสี่ยงที่จะพูดไม่ชัด หรืออาจสังเกตได้จากการเปรียบเทียบในเด็กวัยเดียวกัน หรือเวลาที่เด็กสื่อสารกับพ่อแม่ พ่อแม่เข้าใจความหมายที่เขาสื่อหรือไม่ เป็นต้น
สาเหตุของการพูดไม่ชัดแบ่งออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่
โครงสร้างปาก ลิ้น ฟัน ที่ผิดปกติ เช่น ถ้าลิ้นไม่กระดก มีเอ็นยึดใต้ลิ้น เมื่อพูดเสียงที่ต้องกระดกลิ้นจะทำให้มีปัญหา เช่น การออกเสียง ร.เรือ หรือโครงสร้างเพดานอ่อนผิดปกติ ทำให้เด็กพูดเสียงบู้บี้ อู้อี้ เป็นต้น
การพูดด่าไม่ชัดด้วยตัวเอง ทั้งที่โครงสร้างภายในปากปกติทุกอย่าง อาจเกิดจากการเลี้ยงดู เช่น เวลาที่เด็กพูดไม่ชัดแล้วพ่อแม่หัวเราะชอบใจ ชมว่าน่ารัก ก็จะทำให้เด็กเข้าใจคำเหล่านั้นเป็นคำที่ถูก จึงพูดไม่ชัด
ปัญหาพูดไม่ชัดส่งผลต่อตัวเด็กหลายอย่างด้วยกัน อย่างเช่นการที่เด็กพูดกับเพื่อนแล้วเพื่อนไม่เข้าใจ หรือมีการถามย้ำบ่อยๆ เพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่เด็กพูด ก็จะทำให้เด็กรู้สึกอาย สูญเสียความมั่นใจ และไม่อยากพูด มากกว่านั้นเด็กอาจจะเก็บตัว เข้าสังคมได้น้อยลง หรือมีปัญหาในเรื่องของการอ่านเขียน เช่น หากเด็กพูดคำว่าต้นไม้เป็น “ต้มไม้” เวลาเด็กเขียนก็จะเขียนคำที่เด็กพูดนั่นเอง
วิธีการรักษา เริ่มต้นจากการประเมินโครงสร้างภายในปากของเด็กก่อนว่าปกติหรือไม่ และตรวจการได้ยินของเด็ก จากนั้นจะทำการประเมินทีละเสียงและหาว่าเสียงไหนที่เด็กออกเสียงไม่ชัด เมื่อประเมินได้แล้วจะทำการฝึกทีละเสียง และถ้าหากผู้ปกครองมีการนำกลับไปฝึกที่บ้านด้วยก็จะทำให้เด็กพูดชัดได้เร็วขึ้น จากงานวิจัยพบว่าในหนึ่งเสียงจะใช้การฝึกฝนประมาณ 3 เดือนในการพูดให้ชัด
 
 
 
ที่มา : เว็บไซต์รามาแชนแนล Rama Channel


เนื้อหาอื่นๆ
เคล็ดลับเพิ่มสายใยระหว่างพ่อแม่ลูก
ครอบครัว คือ ที่ที่สร้างความสุขให้เรา รวมถึงเป็นที่พักพิงใจ
อ่านต่อ..
'นมแม่' รากฐานแห่งชีวิต
เพราะนมแม่ คือวัคซีนหยดแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อย และเสริมภูมิคุ้มกัน
อ่านต่อ..
ป้องกันโรคติดเชื้อใน Nursery
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเพิ่มเติมนั่นคือ การระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรค
อ่านต่อ..
'ขนมเด็ก' ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
ขนมเด็กคืออะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อ ขนมเด็กอาจจะเรียกเป็น ปัจจัยที่ 5 หรือ 6 ของเด็กไปแล้ว
อ่านต่อ..
อันตรายกับเด็กอ้วน
ป้องกันไม้ให้เด็กอ้วนทำอย่างไร
อ่านต่อ..