เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
» ป้องกันโรคติดเชื้อใน Nursery
03 Jul 2018 12:52

สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเพิ่มเติมนั่นคือ การระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกเข้าเรียนในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ Nursery...

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กหลายคน มักจะใส่ใจในเรื่องการเรียน การทำกิจกรรม การเล่นและเรียนรู้ของลูกกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเพิ่มเติมนั่นคือ การระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรค ซึ่งทั้งการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเองจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกเข้าเรียนในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ Nursery

โรคติดเชื้อที่พบใน Nursery จะแบ่งได้เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และโรคติดเชื้อในทางเดินอาหาร โดยโรคติดเชื้อที่พบในทางเดินหายใจที่พบได้บ่อย เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อ RSV ส่วนโรคติดเชื้อที่พบในทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า โรคอุจจาระร่วง โรคมือเท้าปาก

โรคติดเชื้อส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลของประเทศไทย เช่นฤดูร้อนจะพบอาการท้องร่วงระบาด ซึ่งมักมากับอาหารที่ปนเปื้อน ฤดูฝนจะพบโรคมือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ และตามด้วยโรคติดเชื้อ RSV และฤดูหนาวจะพบไข้หวัดใหญ่ระบาดได้มาก เชื้อโรคเหล่านี้จะพบได้บ่อยพอกัน และยังพบว่ามีการระบาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงฤดูกาลที่ปรับเปลี่ยนอีกด้วย

การติดเชื้อใน Nursery

การติดเชื้อใน Nursery มักเกิดจากการไอจามรดกัน จาก ของเล่น ภาชนะจานชาม เสื้อผ้าก็สามารถติดกันได้ ซึ่งส่วนมากใน Nursery ก็มักจะค่อนข้างดูแลความสะอาดได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว และยังมีการแยกของใช้ส่วนตัวของเด็ก ไม่ให้ปะปนกัน ทำให้พอช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่เรื่องที่ยากคือ การติดเชื้อในระหว่างการเล่นกันของเด็ก ๆ

การแพร่กระจายของเชื้อ

การแพร่กระจายของเชื้อแบ่งออกได้เป็น การแพร่กระจายในทางเดินอาหาร และการแพร่กระจายในทางเดินหายใจ ซึ่งการแพร่กระจายของเชื้อในทางเดินอาหารนั้น เกิดจากการรับประทานอาหาร ที่ไม่สะอาด ปนเชื้อโรคโดยตรง การแพร่กระจายอาจจะเกิดขึ้นผ่านทางอุจจาระ จากผ้าอ้อมที่เปรอะอุจจาระปนเปื้อนเชื้อโรค ทำให้สามารถติดต่อกันได้ทั้งในตัวเด็กเองและพี่เลี้ยงด้วย ส่วนการแพร่กระจายเชื้อในทางเดินหายใจ ก็เกิดจากการการแพร่กระจายเชื้อในอากาศ ไอจามรดกัน สัมผัสเชื้อที่อยู่ตามของเล่น ของใช้ จากน้ำมูก น้ำลาย เหล่านี้สามารถกระจายได้ง่ายในอากาศ

การป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย

การป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายในทางเดินหายใจ ต้องป้องกันตั้งแต่เด็กที่รับเชื้อไม่ให้คลุกคลีกับเด็กใน Nursery ด้วยการคัดกรองเด็กก่อนเข้า มาเรียนเสมอ ซึ่งกรมอนามัยได้มีแนวทางในการป้องกันโรคติดต่อในสถานรับเลี้ยงเด็กออกมาแล้ว Nursery แต่ละแห่งก็สามารถนำไปใช้ให้เข้ากับพื้นที่ได้ การป้องกันอีกอย่างคือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกป่วยควรพาไปพบแพทย์หรือ นอนพักอยู่ที่บ้าน และควรตรวจวัดไข้ลูก หากพบว่ามีไข้ มีน้ำมูกแล้ว การพามา Nursery อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ ตัวอย่างเชื้อที่ กรมอนามัยแนะนำหากลูกมีอาการ ได้แก่ ท้องร่วง ตาแดง ปอดบวม ไอมาก อีสุกอีใส เป็นต้น

การล้างมือจะช่วยลดการติดต่อได้

การล้างมือจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้ ครูพี่เลี้ยงจะต้องสอนให้เด็กรู้จักล้างมือให้ถูกต้องตามวิธี รวมทั้งการล้างทำความสะอาดของใช้ ของเล่น ต้องล้างน้ำสบู่ ผึ่งไว้ทุกวัน ถ้าเด็กไม่ได้เล่นบ่อย ก็อนุโลมให้ล้างสัปดาห์ละครั้ง และต้องทำความสะอาดสถานที่ด้วย หากเป็นพื้นยางก็ควรทำความสะอาดทุกวัน เพราะอาจมีเชื้อที่ปะปนกับน้ำมูก น้ำลายได้ หากนำมือเข้าปากเชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายได้

คำแนะนำสำหรับครูพี่เลี้ยงใน Nursery

ลำดับแรกจะต้องมีการตรวจคัดกรองก่อนเข้าเรียน ต่อมาก็สนับสนุนให้เด็กใน Nursery ได้รับวัคซีนพื้นฐาน และวัคซีนเสริม เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า ที่ทำให้เกิดท้องเสีย เพราะเด็กที่มา Nursery มีความเสี่ยงมากกว่าเด็กที่อยู่ที่บ้าน รวมทั้งครูพี่เลี้ยงเองก็ต้องได้รับวัคซีนป้องกันในบางชนิดด้วยเช่นกัน ที่สำคัญใน Nursery ต้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี และควรล้างเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็แนะนำให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ร่วมกับการสวมหน้ากากอนามัย.

 

------------------------------------

อาจารย์ พญ.โสภิดา บุญสาธณ. ...

เดลินิวส์ https://www.dailynews.co.th/article/652059

 



เนื้อหาอื่นๆ
เคล็ดลับเพิ่มสายใยระหว่างพ่อแม่ลูก
ครอบครัว คือ ที่ที่สร้างความสุขให้เรา รวมถึงเป็นที่พักพิงใจ
อ่านต่อ..
'นมแม่' รากฐานแห่งชีวิต
เพราะนมแม่ คือวัคซีนหยดแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อย และเสริมภูมิคุ้มกัน
อ่านต่อ..
'ขนมเด็ก' ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
ขนมเด็กคืออะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อ ขนมเด็กอาจจะเรียกเป็น ปัจจัยที่ 5 หรือ 6 ของเด็กไปแล้ว
อ่านต่อ..
อันตรายกับเด็กอ้วน
ป้องกันไม้ให้เด็กอ้วนทำอย่างไร
อ่านต่อ..
‘14 วันหลังคลอด’ เส้นทางเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
วินาทีแรกของการพบปะ มองหน้าซึ่งกันและกันของแม่กับลูก
อ่านต่อ..