เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
» ฝ้าขาว...เชื้อราในปากเบบี้
20 Apr 2017 13:24
    ถ้าพบว่าลูกวัยเบบี้มีฝ้าขาวในปาก ทำความสะอาดแล้ว ฝ้าขาวยังไม่หมดไป แสดงว่าลูกอาจติดเชื้อราในช่องปาก ต้องพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาค่ะ
 
เชื้อราในช่องปากลูก...ติดจากคุณแม่
 
          เชื้อราที่เกิดในช่องปากทารก เป็นเชื้อราที่ชื่อว่า Candida albicans (แคนดิดา อัลบิแคนส์) ส่วนใหญ่เด็กทารกในช่วงภายใน 3 -4 สัปดาห์หลังคลอด อาจมีฝ้าขาวในปาก ที่เกิดจากการติดเชื้อราที่ติดจากคุณแม่โดยตรงจากช่องคลอด ตอนที่หนู ๆ เกิดนั่นเองค่ะ ซึ่งเชื้อราชนิดนี้เป็นหนึ่งในสมดุลทางธรรมชาติในร่างกายที่มีในปริมาณที่ไม่มากเกินไปค่ะ
 
          ดังนั้นการมีเชื้อราในร่างกายไม่ได้หมายความว่าลูกกำลังป่วยเสมอไปนะคะ
 
          โดยเฉพาะในทารกอายุ 3 -4 สัปดาห์ เชื้อราซึ่งเป็นสมดุลทางธรรมชาติ ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคใด ๆ ค่ะ แต่ถ้าพบว่ามีเชื้อราในปริมาณมาก จนช่องปากลูกมีฝ้าขาวหนา และดูดนมลดลงล่ะก็ แสดงว่าเป็นปัญหาแล้วค่ะ
 
          ส่วนสาเหตุอื่น ๆ เช่น หยิบของสกปรกเข้าปาก หรืออยู่เนอสเซอร์รีเดียวกันกับเด็กที่ติดเชื้อ แล้วต้องใช้ของเล่นร่วมกัน อัตราการติดเชื้อจากเด็กสู่เด็กอีกคน ก็แทบจะไม่พบค่ะ ถ้าหมั่นเคร่งครัดเรื่องการทำความสะอาดหัวนม ( กรณีทานนมแม่) ขวดนม ของเล่น และลูกของเราแข็งแรงดี ยกเว้นกรณีที่ลูกมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็อาจรับเชื้อโรคได้ง่าย หรือกรณีลูกได้รับยาปฏิชีวนะซึ่งจะส่งผลกระทบกับสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้ปริมาณเชื้อรามากเกินไป และก่อให้เกิดโรคได้เช่นกัน เด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ที่มีเชื้อราในช่องปาก ควรได้รับการตรวจค้นหาสาเหตุค่ะ
 
สังเกตอาการและรักษาเบื้องต้น
 
          เด็กจะมีฝ้าขาวในปาก บางคนที่เป็นมากฝ้าขาว จะเป็นแผ่นหนาทำให้ลูกรู้สึกเจ็บ ร้องงอแง ไม่ยอมกินนม จนน้ำหนักลดก็มีค่ะ
 
          ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกเพิ่งเริ่มมีฝ้าขาว ๆ อาจลองให้ดูดน้ำสุก หรือสามารถใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นที่สะอาด เช็ดเบา ๆ ทำความสะอาดได้ ฝ้าเหล่านั้นก็จะหายไปได้ ซึ่งลักษณะนี้ ถือว่าไม่ได้เป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ถ้าเช็ดแล้ว ฝ้าขาวยังไม่หมดไป ต้องพาไปพบแพทย์แล้วค่ะ
 
ดูแลสุขภาพช่องปากให้เบบี้
 
          คุณแม่ควรดูแลทำความสะอาดช่องปากเจ้าตัวเล็กเป็นประจำค่ะ โดยเฉพาะเด็กที่กินนมผสม หลังกินนมผสม ควรดื่มน้ำสุกสะอาดตามทุกมื้อ หรือร่วมกับใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำอุ่นที่สะอาดเช็ดในช่องปากหลังกินนม
 
          แต่ถ้ากินนมแม่ ปัญหาเรื่องเชื้อราจะพบน้อยมาก เพราะในนมแม่มีภูมิต้านทานที่ช่วยกำจัดเชื้อรา คุณแม่เพียงแค่ดูแลทำความสะอาดในช่องปากให้ลูกวันละ 1–2 ครั้งก็เพียงพอค่ะ แต่ถ้าไม่ได้ทำความสะอาดช่องปากเลย เชื้อราอาจจะสะสมจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้นะคะ
 
ป้องกันไว้...ก่อนเชื้อราถามหา
 
           1. ทำความสะอาดช่องปากลูกเป็นประจำ
           2. ล้างมือ และ ทำความสะอาดของเล่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรค
           3. ถ้าทำความสะอาดช่องปากแล้ว แต่ลูกยังเป็นเชื้อราอยู่ ควรพาไปพบแพทย์ค่ะ
 
อย่างนี้ต้องพบแพทย์
 
          ถ้าพบว่าฝ้าขาวในช่องปากลูกมีปริมาณมาก เป็นทั้งที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม หรือเช็ดทำความสะอาดแล้วแต่ยังไม่หาย ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ แพทย์จะให้ยาทา เป็นยาฆ่าเชื้อรา เฉพาะที่ซึ่งมีทั้งแบบน้ำและแบบเจล ส่วนใหญ่ใช้ทาประมาณ 1 อาทิตย์หรือจนกว่าฝ้าขาวจะหายหมดไปค่ะ และต้องดูแลทำความสะอาดช่องปากลูกให้ดี เพราะถ้าทายาแล้ว แต่ไม่ได้ทำความสะอาดช่องปาก ลูกก็จะกลับมาเป็นเชื้อราได้อีกค่ะ แต่ถ้าทายาแล้ว 2-3 วันไม่ดีขึ้นหรือลูกมีอาการแทรกซ้อนอื่น เช่น ดูดนมไม่ได้ มีไข้ ควรพาไปพบแพทย์อีกครั้ง เพราะลูกอาจจะติดเชื้ออย่างอื่น เช่นไวรัสเริม หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
 
เชื้อราในปากนำไปสู่โรคอื่นได้ไหม
 
          ถ้าเป็นเด็กที่แข็งแรงปกติ ก็จะไม่ทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ค่ะ แต่ถ้ามีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต้องอยู่โรงพยาบาลนาน ๆ หรือมีการใส่สายสวน เช่น เด็กที่อยู่โรงพยาบาลต้องมีการใส่สายให้อาหารทางเส้นเลือด หรือสายปัสสาวะ เด็กกลุ่มนี้อาจจะมีเชื้อราเข้าสู่กระแสเลือด และนำไปสู่การเกิดโรคอื่นๆ ทั่วร่างกาย แต่พบได้น้อยค่ะ ซึ่งในกรณีนี้ แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อราในรูปแบบยากินหรือยาฉีดค่ะ
 
          หมั่นดูแลรักษาความสะอาดช่องปากของลูกน้อยเป็นประจำ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อราในปากลูกได้ค่ะ
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รักลูก
 


เนื้อหาอื่นๆ
เคล็ดลับเพิ่มสายใยระหว่างพ่อแม่ลูก
ครอบครัว คือ ที่ที่สร้างความสุขให้เรา รวมถึงเป็นที่พักพิงใจ
อ่านต่อ..
'นมแม่' รากฐานแห่งชีวิต
เพราะนมแม่ คือวัคซีนหยดแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อย และเสริมภูมิคุ้มกัน
อ่านต่อ..
ป้องกันโรคติดเชื้อใน Nursery
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเพิ่มเติมนั่นคือ การระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรค
อ่านต่อ..
'ขนมเด็ก' ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
ขนมเด็กคืออะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อ ขนมเด็กอาจจะเรียกเป็น ปัจจัยที่ 5 หรือ 6 ของเด็กไปแล้ว
อ่านต่อ..
อันตรายกับเด็กอ้วน
ป้องกันไม้ให้เด็กอ้วนทำอย่างไร
อ่านต่อ..