เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
» เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น
20 Apr 2017 10:50
    คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับโรคเบาหวานในเด็ก จนอาจสงสัยว่าเด็กและวัยรุ่น (อายุน้อยกว่า 20 ปี) เป็นเบาหวานได้ด้วยหรือ เด็กที่เป็นเบาหวานเนื่องมาจากขาดอินซูลิน หรือการออกฤทธิ์ของอินซูลินไม่ดี เนื้อเยื่อต่าง ๆ ใช้น้ำตาลไม่ได้ จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
 
ชนิดของเบาหวานที่พบในเด็ก
เบาหวานที่พบในเด็กและวัยรุ่นสามารถจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ
* เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง กล่าวคือร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นต่อต้านตนเอง (autoimmune) แล้วภูมิคุ้มกันนี้ได้ไปทำลายตับอ่อนทีละ น้อย ๆ จนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ในที่สุด เบาหวานชนิดนี้เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในเด็กและวัยรุ่น (ประมาณร้อยละ 70  ของผู้เป็นเบาหวานที่เป็นเด็กและวัยรุ่น)
* เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นแบบเดียวกับเบาหวานที่พบมากในผู้ใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ภาวะอ้วน และ มักมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน
* เบาหวานที่เกิดจากยาหรือการติดเชื้อบางชนิด เช่น เด็กที่กินยาสเตียรอยด์ในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะมีอาการหน้าบวม ตัวกลม ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น
 
เบาหวานชนิดที่ 1
เบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน มีสมมุติฐานว่าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรมบางอย่าง ร่วมกับมีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมากระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านตับอ่อนตนเอง ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่มีการศึกษาว่าอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิด หรือการที่สมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายเปลี่ยน แปลงไป จนส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันและตับอ่อนในที่สุด
 
อาการ
สำหรับอาการของโรคเบาหวาน เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลถูกขับออกมาทางปัสสาวะ อาจมีประวัติปัสสาวะมีมดตอม มีปัสสาวะบ่อยและเยอะ หรือมีปัสสาวะรดที่นอนในวัยที่ไม่สมควร เมื่อร่างกายเสียน้ำมาก จึงมีอาการกระหายน้ำบ่อยผิดปกติ และเนื่องจากร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงมีอาการอ่อนเพลีย กินจุ หิวบ่อย น้ำหนักลด และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจมีเลือดเป็นกรดและคีโตนคั่ง เราเรียกภาวะนี้ว่า "ดีเคเอ" (DKA; Diabetic ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ฉุกเฉิน บางคนอาจอาเจียน ปวดท้อง หายใจหอบหรืออาจหมดสติ ซึ่งต้องการรักษาอย่างเหมาะสมโดยรีบด่วน
 
การรักษา
การรักษาเด็กกลุ่มนี้ คือ ต้องได้รับอินซูลินทดแทน ซึ่งในปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับอินซูลินโดยรูปแบบฉีดเท่านั้น มีความพยายามผลิตอินซูลินในรูปแบบอื่น ๆ เช่นรับประทาน หรือแบบพ่นทางปาก แต่พบว่าได้ผลไม่ดีเนื่องจากอินซูลินถูกทำลายได้ง่ายในกระเพาะอาหารผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องฉีดอินซูลินวันละอย่างน้อย 3-4 ครั้ง ทุก ๆ วันไปตลอดชีวิต และตรวจน้ำตาลปลายนิ้วด้วยตนเอง รวมถึงมีการพัฒนาเครื่องมือสำหรับเดินยาอินซูลินแบบต่อเนื่อง ใต้ผิวหนัง ปัจจุบัน ได้มีการคิดค้นการรักษา อื่น ๆ เช่น ตับอ่อนเทียม (artificial pancreas)
ซึ่งจะอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่างได้แก่ เครื่อง ให้อินซูลินแบบต่อเนื่อง (insulin infusion pump) เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลต่อเนื่อง (continuous glucose sensor) และระบบประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลและคำนวณการให้อินซูลิน ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวยังใช้ในวงจำกัดในโครงการวิจัย ยังไม่ได้นำมาใช้ในผู้เป็นเบาหวานโดยทั่วไป  สำหรับการปลูกถ่ายตับอ่อนและเบต้าเซลล์ เป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งในการหาวิธีการรักษาเบาหวานให้หายขาด อย่างไรก็ตามเมื่อติดตามไประยะยาว ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถหยุดยาฉีดอินซูลินอย่างถาวรได้ และจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันระยะยาว นักวิจัยทั่วโลกมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาเซลล์ซึ่งสามารถสร้างอินซูลินได้จากแหล่งอื่น ๆ เช่นจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (stem cells) ซึ่งยังอยู่ในการศึกษาวิจัย
การจัดอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะไม่จำกัดพลังงานมากเหมือนกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักจะผอมอยู่แล้ว แนะนำให้รับประทานอาหารตามปกติที่ต้องการตามวัย โดยสัดส่วนพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตอยู่ที่ร้อยละ 50 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในหนึ่งวัน และเลือกคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็วหรือขึ้นสูง (มีค่า glycemic index ต่ำ) เช่น ควรรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตจากข้าวหรือธัญพืชที่ไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงการรับประทานคาร์โบไฮเดรตจากขนมหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัด หรือมีไขมันสูงเกินไป เป็นต้น
เด็กและวัยรุ่นผู้เป็นเบาหวานควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ สามารถเล่นกีฬา เรียนพละได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป ไม่ควรมีการถูกจำกัดกิจกรรมใด ๆ การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อใช้พลังงาน มีประโยชน์มากในการควบคุมระดับน้ำตาลและมีผลดีต่อสุขภาพด้วย แนะนำให้ออกกำลังกายหรือกิจกรรมออกแรงอย่างน้อยวันละ 20-30 นาทีทุกวัน โดยสอนให้ผู้ป่วยปรับลดขนาดอินซูลินหรือเพิ่มมื้ออาหารว่างขณะออกกำลังกายเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำตาลต่ำ
 
เบาหวานชนิดที่ 2
ปัจจุบันพบเบาหวานชนิดที่ 2 เริ่มเป็นกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเด็กวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วน ทั้งนี้เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกช่วงวัย รวมถึงเด็กและวัยรุ่นด้วย เบาหวานชนิดที่ 2 นี้ ตับอ่อนยังสร้างอินซูลินได้ แต่เนื่องจากร่างกายอ้วนมาก เลยดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่พอเพียง อย่างไรก็ตามเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ป้องกันได้ด้วยการลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหารให้ดี ซึ่งอาจช่วยให้สามารถควบคุมน้ำตาลได้ โดยไม่ต้องใช้ยาฉีดหรือยารับประทาน การเฝ้าติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก รีบวินิจฉัยและรักษาโรคอ้วนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกัน
 
กำลังใจ : สิ่งสำคัญในการรักษา
         กำลังใจนับเป็นสิ่งสำคัญในการรักษา ทั้งจากพ่อแม่ของผู้ป่วย เพื่อน และคุณครู ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ จะดำเนินชีวิตอย่างคนปกติ กล้าเปิดเผยว่าตนเองเป็นเบาหวาน มีผู้ป่วยเบาหวานตั้งแต่เด็กจำนวนมากที่สามารถใช้ชีวิตจนประสบความสำเร็จ เช่น เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร หรือศึกษาสำเร็จระดับปริญญาเอก การเป็นโรค เบาหวานยังทำให้เด็กมีระเบียบวินัยในการดูแลตนเอง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพเด็กใน ระยะยาว
         ในกรณีที่ผู้ป่วยเด็กรู้สึกโดดเดี่ยว การได้เข้าร่วมกิจกรรมออกค่ายร่วมกับผู้ป่วยโรคเดียวกันหรือทำกิจกรรมกับชมรมเครือข่ายผู้เป็นเบาหวาน จะช่วยปรับทัศนคติของเด็ก และได้รับความรู้และกำลังใจในการดูแลเบาหวานอย่างถูกต้อง ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียด และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ หรือ เฟซบุ๊ก สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี www.dmthai.org หรือที่ เว็บไซต์ ชมรมเพื่อเด็กและวัยรุ่นเบาหวาน www.thaidiabetes.com
 


เนื้อหาอื่นๆ
เคล็ดลับเพิ่มสายใยระหว่างพ่อแม่ลูก
ครอบครัว คือ ที่ที่สร้างความสุขให้เรา รวมถึงเป็นที่พักพิงใจ
อ่านต่อ..
'นมแม่' รากฐานแห่งชีวิต
เพราะนมแม่ คือวัคซีนหยดแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อย และเสริมภูมิคุ้มกัน
อ่านต่อ..
ป้องกันโรคติดเชื้อใน Nursery
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเพิ่มเติมนั่นคือ การระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรค
อ่านต่อ..
'ขนมเด็ก' ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
ขนมเด็กคืออะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อ ขนมเด็กอาจจะเรียกเป็น ปัจจัยที่ 5 หรือ 6 ของเด็กไปแล้ว
อ่านต่อ..
อันตรายกับเด็กอ้วน
ป้องกันไม้ให้เด็กอ้วนทำอย่างไร
อ่านต่อ..