“เด็กแก้มเยอะ ตัวกลมๆ น่าหมั่นเขี้ยวดีจัง” มีใครคิดแบบนี้กันบ้าง? เมื่อตอนเด็กๆ ดูน่ารัก น่ากอด แต่เมื่อเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ และติดพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกโภชนาการเข้าไป อาจทำให้ความน่ารักนั้น กลายเป็นความน่าวิตกเพราะ โรคอ้วน และนำมาสู่โรคไม่ติดต่อเรื้องรังอื่นๆ ตามมา
เป็นที่น่ากังวลใจในยอดตัวเลขที่มีแนวโน้มว่าเด็กไทยอ้วนขึ้น เพราะข้อมูลจาก กองออกกำลังกาย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 12.5 ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.1 ในปี 2559 ซึ่งทางกรมอนามัยแนะนำว่า การจะลดปัญหาภาวะอ้วนและเพิ่มความสูงให้แก่เด็กวัยเรียน มี 3 ปัจจัยคือ1.การออกกำลังกายที่เพียงพอ 2.การกินอาการที่มีประโยชน์ และ 3.การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ
ด้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข และหลายๆ ภาคีเครือข่าย ต่างวิตกกังวลถึงสถานการณ์ความอ้วนในเด็กไทย เพราะเป็นต้นทางที่นำมาสู่ภาวะเจ็บป่วยในอนาคต จึงผสานความร่วมมือและผลักดันโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ แนะนำเรื่องโภชนาการสำหรับเด็ก หรือโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน เป็นต้น
คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง รู้หรือไม่ว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากร พ.ศ. 2560 พบว่า เรื่องการบริโภคอาหารว่าง ในประชากรวัยเด็กอายุ 6-14 ปี สูงสุดร้อยละ 89.2 และประชากรอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 82.2 ซึ่งสาเหตุของการบริโภคอาหารว่างนั้น มีสาเหตุจากการอยากกินมากที่สุดร้อยละ 48.5 และรู้สึกหิวร้อยละ 38.4 นอกจากนี้ข้อมูลด้านการปรุงอาหาร ยังพบว่า ประชากรวัยเด็กอายุ 6-14 ปี ปรุงอาหารร้อยละ 42.9 และในประชากรอายุ 15-24 ปี ปรุงอาหารร้อยละ 64.8
นั่นหมายความว่า อาหารว่างที่มีรสหวาน มัน เค็ม หรือการปรุงอาหารเพิ่มเติมจากที่ร้านค้าปรุงมาเรียบร้อยแล้วนั้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของเด็กไทย และนำมาสู่การเป็นต้นเหตุของโรคอ้วนลงพุง แล้วเด็กๆ ควรกินอาหารว่างแบบไหนดีล่ะ? จากการรวบรวมข้อมูลทางด้านโภชนาการของ สสส. โดยสำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ได้ให้ข้อมูลและคำแนะนำเรื่องอาหารว่าง ดังนี้
ลูกควรกินอาหารว่างอะไร ?
เมื่อสนับสนุนให้เด็กๆ มีพฤติกรรมการกินอาหาร หรือของว่างที่มีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ และไม่ติดรสชาติหวาน มัน เค็ม แล้วนั้น ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวเด็กๆ ไปจนโต และเขาจะพิจารณาการเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วยตนเอง
นม : นมรสหวานและนมเปรี้ยวไม่เหมาะกับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต เนื่องจากมีน้ำตาลเยอะ และมีน้ำนมโคเพียงครึ่งเดียว ดังนั้นควรเลือกนมรสจืดให้กับเด็กๆ
ผลไม้ : ควรเลือกผลไม้ที่ให้พลังงาน ใยอาหาร วิตามินเอ วิตามินซี และน้ำตาล ในปริมาณเหมาะสมกับเด็ก เช่น แคนตาลูป 5 ชิ้นคำ / ชมพู่ 2 ผลใหญ่ / ส้มโอ 2 กลีบ / กล้วยไข่ 1 ผล / มะละกอสุก 6 ชิ้น / กล้วยหอม1/2 ผล / แอปเปิลเขียว 3/4ผล / เงาะ 4 ผล / แตงโม 3 ชิ้น / กล้วยน้ำว้า 1 ผล / มะม่วงสุก1/2 ผล / ส้ม 2 ผลกลาง / ฝรั่ง 1/2 ผล / สัปปะรด 6 ชิ้น
เครื่องดื่มผลไม้สด : เลือกน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 5 โดยดื่มวันละไม่เกิน 1 แก้ว หรือ 1 กล่องเล็ก หากเป็นไปได้ควรกินผลไม้สด
วิธีฝึกให้ลูกกินผลไม้
1.ฝึกให้กินตั้งแต่เล็ก โดนกินทีละน้อย
2.หากเด็กปฏิเสธ ต้องยื่นให้หลายๆ ครั้ง
3.พ่อแม่ช่วยกระตุ้นความอยากกินให้เด็กได้
หลักการเลือกขนมสำหรับเด็ก
1.เลือกอาหารว่าง หรือขนมที่มีพลังงาน ปริมาณน้ำตาล เกลือ และน้ำมันไม่สูง
2.ปรุงใหม่จากอาหารตามธรรมชาติ หรือขนมที่ทำจากผลไม้ เพราะมีวิตามินและใยอาหาร
3.หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบ หรือกินบางครั้ง เพราะมีการปรุงแต่งรสเข้มข้น ทั้งหวาน มัน เค็ม
“You are what you eat” หรือ คุณกินอะไรเข้าไป คุณก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราปลูกฝังการกินให้เด็กๆ ตั้งแต่วันนี้ นอกจากจะห่างไกลทั้งโรคอ้วนลงพุง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ แล้ว เด็กจะมีสุขภาพพื้นฐานที่แข็งแรง และตระหนักรู้ในการเลือกกินอีกด้วย
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ อาหารว่างกินดีมีประโยชน์ สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
ภาพประกอบโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ