เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
» ความเชื่อมั่นและนับถือตนเอง เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องสร้างให้ลูก
25 Apr 2016 16:33
 
วิธีเลี้ยงลูกให้มีความเชื่อมั่นและพัฒนาตนเองได้อย่างสมบูรณ์และเติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพ คุณพ่อคุณแม่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน อาจจะดูเหนื่อยและต้องใช้ความอดทน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็จะพบกับความสุขเมื่อลูกเติบโตค่ะ แล้วจะเลี้ยงอย่างไรให้ลูกรู้จักคุณค่าของตนเอง วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้ดี ๆ จากนิตยสาร MODERNMOM มาฝากกันค่ะ
 
          ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวดารา นักร้อง นักแสดง ทั้งวงการบันเทิงไทยและฮอลลีวูด ประสบปัญหาด้านจิตใจกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ภาวะซึมเศร้า หรือการฆ่าตัวตาย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นทั้ง ๆ ที่พวกเขาเหล่นั้นดูช่างมีชีวิตที่สดใส สมบูรณ์สวยงามเวลาปรากฏตัวบนเวทีหรือบนพรมแดงต่อหน้าประชาชนมากมาย เขาช่างดูมีความมั่นใจซะเหลือเกิน
 
  Self-esteem vs Self-confidence
 
          คำถามก็คือ การที่คุณพ่อคุณแม่พยายามฝึกฝนให้ลูกเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองนั้น จะช่วยให้ลูกมีความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิตได้หรือไม่ ถ้าหากอธิบายกันตามหลักจิตวิทยาแล้วเราคงตอบว่า คนที่ประสบปัญหาเช่นนั้นเพราะถึงแม้พวกเขาจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงแต่มีความรู้คุณค่าในตัวเองต่ำ ทำให้มีภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคงและไม่สามารถรับมือกับเรื่องร้าย ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้อย่างสมเหตุสมผลนั่นเอง
 
          การรู้คุณค่าในตัวเองกับความมั่นใจในตัวเอง ไม่เหมือนกันนะคะ การรู้คุณค่าในตัวเอง คือ เรามองเห็นตัวเองแล้วรู้สึกอย่างไร รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในฐานะบุคคลหนึ่งแค่ไหน รักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น มีความสุขกับสิ่งที่ตนเป็น ซึ่งจะพัฒนามาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต
 
          ความมั่นใจในตนเอง คือ ความรู้สึกมั่นใจในความสามารถหรือทักษะด้านต่าง ๆ ที่ตนทำได้ เช่น บางคนอาจมีความมั่นใจในการร้องเพลง กล้า แสดงออก ชอบการแสดง ก็จะมั่นใจที่จะแสดงเรื่องนั้น ๆ ออกมา
 
  Low vs High Self-esteem
 
          มีลักษณะทั่ว ๆ ไปที่คุณพ่อคุณแม่พอจะสังเกตได้ว่า ลูกเรามีการรู้คุณค่าในตัวเองสูงหรือต่ำมาฝาก จะได้ไหวตัวทันและรับมือวางแผนเสริมสร้างการรู้คุณค่าในตัวเองให้ลูกซะก่อนจะสายเกินไป การรู้คุณค่าในตัวเองไม่ได้มีมาแต่เกิด แต่เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดไปจนโต ลูกจะมองว่าตนมีคุณค่าในแบบของตัวเอง ต้องปลูกฝังกันมาตั้งแต่เป็นทารก เพราะเมื่อคนเราก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว การจะเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ที่มองเห็นตัวเองมาแต่เด็กนั้น คงเป็นเรื่องยากเสียแล้ว
 
Low Self-esteem ลักษณะเด็กที่มีการรู้คุณค่าในตัวเองต่ำ
 
          เด็กที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าหรือมีไม่มากพอ มักจะพูดถึงตัวเองในทางลบ เช่น "หนูไม่เก่ง" "หนูไม่ฉลาดพอ" "หนูไม่มีทางทำอันนี้ได้" หรือแสดงทัศนคติว่าไม่แคร์ ไม่สนใจ ไม่อยากทำ รอให้คนอื่นเข้ามาช่วยจะทำให้ท้อถอยง่าย ไม่อดทนทำงาน หรือทำกิจกรรมที่อาจยากขึ้นมาหน่อยยังไม่ทันเสร็จก็ล้มเลิก ไม่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งก็จะส่งปัญหากับการเรียนโดยเฉพาะในวัยอนุบาลเนื่องจากต้องเริ่มเรียนอะไรใหม่ ๆ พอดี
 
High Self-esteem ลักษณะเด็กที่มีการรู้คุณค่าในตัวเองสูง
 
          เด็กที่รู้จักคุณค่าของตน มีความสุขกับสิ่งที่ตนเป็นจะมองโลกในแง่ดีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถเล่นหรือทำงานเป็นกลุ่มได้ดี หรือด้วยตนเองก็ดีไม่แพ้กัน เมื่อเจองานใหม่ ๆ ถ้าทำไม่ได้จะรู้จักถามหาความช่วยเหลืออย่างไม่ขัดเขิน เช่น "หนูไม่เข้าใจ" "หนูทำตรงนี้ไม่ได้" และพยายามทำให้ได้ นั่นหมายถึง หนูน้อยรู้จุดแข็งและจุดด้อยของตัวเอง ยอมรับมัน และหาทางออกให้กับตัวเองได้ดี
 
  เลี้ยงอย่างไรให้ลูกรู้จักคุณค่าของตนเอง
 
          พ่อแม่ คือกุญแจสำคัญ การรู้จักคุณค่าของตนเอง เกิดขึ้นจากสมดุลที่ดีของการรู้ว่าตนเป็นที่รักของพ่อแม่ ควบคู่ไปกับการรับรู้ว่าตนทำได้ หรือมีความมั่นใจในตัวเองนั่นเอง เด็กที่มั่นใจในความสามารถของตนเอง รู้ว่าตนเก่ง และสามารถทำสิ่งที่ถนัดได้ดีถึงดีเยี่ยม แต่ไม่รู้สึกว่าตนเป็นที่รัก รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักตน หรือทำอะไรพ่อแม่ก็ไม่ภูมิใจซะที จะโตมาเป็นบุคคลที่มีการรู้คุณค่าในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) 
 
          ในขณะเดียวกัน เด็กที่รู้ว่าตนเป็นที่รักของพ่อแม่ แต่ไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ก็จะมี Self-esteem ต่ำเช่นกัน ดังนั้น การรู้คุณค่าในตัวเองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พ่อแม่สามารถถ่วงสมดุลของทั้งสองอย่างนี้ให้กับลูกในวัยเด็กได้เป็นอย่างดีค่ะ
 
          ฟังดูยากใช่ไหมคะ แต่ไม่ต้องเครียดหรอก ถึงจะเป็นหน้าที่ที่หนักหน่วงของพ่อแม่ แต่ถ้าเราเข้าใจวิธีการก็จะไม่ยากแถมสนุกไปกับการเลี้ยงลูก ที่สำคัญเป็นการเพิ่มพลัง Self-esteem ให้กับคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะเราจะเลี้ยงลูกที่มี Self-esteem ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็คงต้องรักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น ยอมรับข้อเด่น ข้อด้อยของตน จะได้รู้ว่าอะไรเราทำได้ อะไรต้องหาตัวช่วยเสริม เพื่อการวางชีวิตที่มีความสุขให้กับลูกของเราค่ะ ที่สำคัญจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย
 
  หนูน้อย 0-2 ปี
 
          การรู้คุณค่าในตัวเองไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่ได้มาระหว่างการเจริญเติบโต ความรักความผูกพันจากแม่และพ่อคือปัจจัยหลัก ไม่ต้องกลัวลูกติดแม่มากเกินไป ไม่ต้องกลัวเด็กติดมือ ไม่ต้องกลัวโอ๋ลูกมากเกินไป โดยเฉพาะในวัยแบเบาะ การโอ๋ไม่ใช่การตามใจไปเสียทุกอย่าง แต่คือการประคับประคองอารมณ์ลูก และทำให้ลูกรับรู้ว่าความรู้สึกของเขาสำคัญกับเรา และนั่นล่ะคือจุดเริ่มต้นของการรู้คุณค่าในตัวเอง
 
          ทำไมเราถึงให้ความสำคัญกับ 2 ขวบปีแรกนี้ เพราะช่วงนี้สมองของลูกน้อยเติบโตเร็วมาก และเป็นช่วงที่หนูน้อยกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้ และเก็บข้อมูลต่าง ๆ เข้าสู่สมองกลายเป็นความจำแบบฝังชิปนั่นเอง สมองของเด็กเก็บข้อมูลจากสิ่งที่เขาได้รับบ่อย ๆ เวลาหนูน้อยส่งสัญญาณบางอย่างออกมาเขาคาดหวังว่าจะได้รับการตอบสนองที่อยากได้ เช่น หนูน้อยยกมือขึ้นเพื่อให้พ่อแม่อุ้ม แล้วพ่อแม่ก็อุ้ม หนูน้อยรู้สึกมีความสุข เมื่อเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ก็กลายเป็นแบบแผนในสมอง 
 
          หนูน้อยเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจะได้รับความสุข หรือได้ในสิ่งที่เขาต้องการ เมื่อสมองเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขบนแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง หนูน้อยเรียนรู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ โดยเก็บกักความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองไว้อย่างเต็มเปี่ยม
 
          หนูน้อยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข รู้สึกพึงพอใจในตนเอง และรู้แนวทางปฏิบัติอันถูกต้องที่จะให้ได้มาซึ่งความรู้สึกนั้น จะฝึกฝนตนเองให้ทำสิ่งที่ดีเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีโดยอัตโนมัติ และเมื่อมีอุปสรรคหรือเรื่องร้าย ๆ ให้รู้สึกเศร้าเสียใจจะสามารถพาตนเองออกจากความเศร้า และกลับสู่ความสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง เพราะรู้ว่าการรู้สึกดีมันเป็นอย่างไร แต่หนูน้อยที่ขาดประสบการณ์เหล่านี้ไปจะไม่รู้ว่าความสุขจริง ๆ เป็นเช่นไรและโหยหาอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่ได้ดังใจ หรือเจอเรื่องร้าย ๆ ในชีวิตก็หาทางที่จะกลับสู่ความสุขไม่เจอหรือไม่ถูกต้อง เช่น พึ่งยาเสพติด คิดฆ่าตัวตาย เพราะไม่เคยฝึกฝน และหาไม่เจอด้วยซ้ำว่าความสุขคืออะไร
 
          ฟังแล้วไม่ต้องตกใจนะคะ บางวันบางครั้งที่คุณพ่อคุณแม่สะดุดพลาดพลั้ง ไม่ยั้งอารมณ์ใส่ลูกไปบ้าง ลูกน้อยมีความเก่งอย่างที่คุณคาดไม่ถึง แบบแผนที่ทำประจำคือสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งที่ลูกน้อยเลือกจำสาระสำคัญที่ต้องให้ลูกรู้คือ "แม่อยู่ตรงนี้เสมอเพื่อลูก" ค่ะ
 
Advice 
 
          สำหรับวัยที่ยังเล็กนี้ เรื่องสำคัญก็คือการดูแลและการตอบสนองสิ่งที่ลูกน้อยต้องการอย่างทันท่วงทีและสม่ำเสมอนั่นเองค่ะ
 
          ตอบสนองทันท่วงที : การตอบสนองความต้องการของหนูน้อยวัยเบบี้อย่างทันทีคือหัวใจสำคัญ ลองนึกแบบนี้ค่ะ ในช่วงที่ลูกยังพูดไม่ได้หรือยังได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การร้องไห้คือการสื่อสารเดียวของลูก เมื่อความต้องการของลูกได้รับการตอบสนองทันที ลูกน้อยแฮปปี้ และมันเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกลายเป็นแบบแผนในหัวลูก หนูน้อยเรียนรู้ว่า มีคนฟังหนู เข้าใจหนู เย่ ! หนูเป็นคนสำคัญนะ
 
          ในทางกลับกันหากหนูน้อยร้องไปก็ไม่ได้ผล หนูน้อยเรียนรู้ว่าสัญญาณที่หนูส่งไปไม่มีใครรับรู้ หรือได้ยิน ดังนั้น "หนูไม่มีค่าพอให้ใครใส่ใจ" และ "มันไม่มีประโยชน์ที่จะพยายาม เพราะยังไงก็ไม่มีใครแคร์หนูอยู่ดี"
 
  หนูน้อย 2-6 ปี
 
          อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งหนักใจนะคะ หากที่ผ่าน ๆ มาไม่แน่ใจว่าตอบสนองความต้องการองลูกและเลี้ยงดูอารมณ์ลูกกันดีแล้วหรือไม่ ยังไม่สายเกินไปค่ะที่จะสร้างการรู้คุณค่าในตนเองให้กับลูกน้อย ที่สำคัญให้เวลาลูกมาก ๆ อยู่กับลูกจริง ๆ ไม่ใช่ตัวอยู่แต่มืออ่านโทรศัพท์ พิมพ์ไลน์ เป็นต้น
 
          เด็กวัยนี้เป็นวัยกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่พัฒนาขึ้นมาก สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้คล่องแคล่ว พัฒนาการด้านภาษาก้าวหน้า เข้าใจคำศัพท์ต่าง ๆ ที่มีคนพูดด้วย และสื่อสารบอกความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน เรียกว่าเป็นวัยที่เริ่มมีอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อพร้อมก้าวสู่โลกนอกบ้าน คุณพ่อคุณแม่จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำในสิ่งต่าง ๆ เอง แม้ว่าจะยังมีข้อผิดพลาดบ้าง ก็อย่าเพิ่งรีบตำหนิ ดุว่า หรือเห็นเป็นเรื่องขำขัน และที่สำคัญควรให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือก ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงชมเชยและเป็นกำลังใจเมื่อทำสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความรู้คุณค่าในตัวเองของลูกวัยซนนี้
 
Advice 
          ลูกน้อยวัยนี้ยังต้องการการเสริมสร้างการรู้คุณค่าในตัวเองไม่แพ้กัน แถมบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจปูทางมาอย่างดี แต่ก็เริ่มมีปัจจัยภายนอกต่าง ๆ มากระทบกระเทือนให้การรู้คุณค่าในตนเองของลูกน้อยสั่นคลอนได้ มีข้อแนะนำมาฝากกันค่ะ
 
           ความรัก : ความรักคือพลังขับเคลื่อน Self-esteem ค่ะ พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่คุณทำให้ลูกรู้หรือยังว่าคุณรักเขา มอบสัมผัสรักให้เขาเยอะ ๆ การอุ้มลูก กอด หอม โอบไหล่ ตบไหล่ เดินจูงมือกัน นั่งทำกิจกรรมใกล้กัน ส่งผ่านความรักจากคุณพ่อคุณแม่สู่ลูกได้ทั้งนั้นค่ะ
 
           ชมให้บ่อยและถูกต้อง : คงต้องขอย้อนกลับไปเรื่องที่เคยเขียนไว้ คือชมอย่างไรให้ได้ดี เด็ก ๆ ทุกคนต้องการคำชมเพื่อกระตุ้นคุณค่า ชมบ่อยแต่อย่าพร่ำเพรื่อ จริงใจอย่าเสแสร้ง ชมให้เจาะจง อย่าชมลอย ๆ เช่น แทนที่จะชมว่า "เก่งมากค่ะลูก" ให้ชมว่า "ลูกเก่งมากที่กินข้าวเองหมดจานเลย" และใช้ประโยคง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนนะคะ
 
           ครอบครัวที่อบอุ่น : เด็ก ๆ ที่โตมาท่ามกลางการทะเลาะเบาะแว้งของพ่อแม่ หรือมีการใช้คำพูดที่รุนแรงใส่กัน จะมี Self-esteem ต่ำ
 
           เล่นกับลูก : การเล่นกับลูกเป็นกิจกรรมที่ดีที่สุดในการเสริมสร้าง Self-esteem โดยให้ลูกได้เป็นฝ่ายเลือกเกมหรือตั้งกฎกติกาบ้าง สนุกไปด้วยกัน แม้ลูกจะชอบเล่นซ้ำ ๆ ก็ตาม ที่สำคัญ การเล่นนี่ล่ะค่ะ ที่คุณพ่อคุณแม่จะได้สังเกตลูกว่า ลูกมีความมั่นใจในตัวเองมากน้อยแค่ไหน กล้าตัดสินใจแก้ปัญหาและควบคุมอารมณ์ของตนเองดีแค่ไหน และจะได้เข้าแทรกแซงแก้ไขได้ทันค่ะ
 
           มอบหมายงานบ้าน : ตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป หนูน้อยสามารถร่วมมีส่วนรับผิดชอบในงานบ้านได้แล้ว เช่น เก็บของเล่นเข้ากล่องให้เรียบร้อย พอสัก 3 ขวบก็อาจให้ช่วยขัดห้องน้ำ โดยมีแปรงหรือฟองน้ำเล็ก ๆ ให้ได้ทำพอสนุก ตอนน้องแองจี้ยังไม่ 3 ขวบดี แอนนี่หาชุดไม้กวาดกับที่โกยผงเล็ก ๆ ไว้ให้ช่วยทำความสะอาดบ้าน ซึ่งลูกชอบมาก รู้สึกว่าตัวเองพิเศษที่ได้ทำและมีของมีหน้าที่ตนเอง ค่อย ๆ ขยับขึ้นตามอายุค่ะ ล้างจานบ้าง ช่วยจัดโต๊ะอาหารบ้าง เพื่อให้ลูกรู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในครอบครัว
 
           การโกรธหน้าโมโหเป็นเรื่องธรรมดา : อย่าดุว่าลูกแรง ๆ เวลาลูกโมโห กรีดร้องแสดงความไม่ได้ดังใจ แต่ช่วยลูกให้ได้รู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึกของเขา พ่อแม่เองก็มีวันที่หงุดหงิด เสียใจ แต่เราต้องรู้จักการแสดงออกที่เหมาะสม และรู้จักรับมือกับมันได้ตามกาลเทศะ อย่าบอกให้ลูกเก็บกดความรู้สึกไม่ดีต่าง ๆ ไว้ หรือถ้าลูกแสดงความไม่พอใจเป็นสิ่งผิด เขาจะเก็บกดสะสมความรู้สึกเดือดดาลไว้ และไม่รู้จะทำให้มันหายไปอย่างไร และคิดว่าความรู้สึกของตนไม่มีค่าพอ
 
           ทุกคำพูด ทุกสัมผัส ทุกปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่ลูก คือหนทางแห่งการสร้างการรู้คุณค่าในตนเองของลูกทั้งสิ้น หากเริ่มไม่แน่ใจหรือกลัวลูกรู้สึกด้อยค่า และคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้จะทำอย่างไร แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก ยังไม่จำเป็นต้องพาลูกไป แค่คุณพ่อคุณแม่ไปคุยและขอคำแนะนำมาปฏิบัติใช้ก็ได้ค่ะ
 
          อาจดูเป็นงานหนัก แต่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำภารกิจที่สำคัญที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่เลี้ยงเด็กคนหนึ่ง แต่คุณพ่อคุณแม่กำลังสร้างคนค่ะ เหนื่อยหน่อยตอนนี้แล้วสุดท้ายคุณพ่อคุณแม่จะได้นั่งเอนหลัง อมยิ้มอย่างมีความสุข เมื่อเห็นลูกโตขึ้นอย่างเต็มคุณค่าค่ะ
 
ที่มา นิตยสาร Modernmom Vol.20 No.240 ตุลาคม 2558
 


เนื้อหาอื่นๆ
เคล็ดลับเพิ่มสายใยระหว่างพ่อแม่ลูก
ครอบครัว คือ ที่ที่สร้างความสุขให้เรา รวมถึงเป็นที่พักพิงใจ
อ่านต่อ..
'นมแม่' รากฐานแห่งชีวิต
เพราะนมแม่ คือวัคซีนหยดแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อย และเสริมภูมิคุ้มกัน
อ่านต่อ..
ป้องกันโรคติดเชื้อใน Nursery
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเพิ่มเติมนั่นคือ การระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรค
อ่านต่อ..
'ขนมเด็ก' ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
ขนมเด็กคืออะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อ ขนมเด็กอาจจะเรียกเป็น ปัจจัยที่ 5 หรือ 6 ของเด็กไปแล้ว
อ่านต่อ..
อันตรายกับเด็กอ้วน
ป้องกันไม้ให้เด็กอ้วนทำอย่างไร
อ่านต่อ..