พัฒนาการ IQ&EQ
พัฒนาการ IQ&EQ
» 5 เทคนิค เล่านิทานให้ลูกน้อยฟัง
23 Mar 2016 10:13
รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี สถาบันราชานุกูล
คุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจเกิดความสงสัยว่า อ่านหนังสือหรือนิทานให้ลูกน้อยในวัยเล็กๆ ฟัง แล้วลูกจะรู้เรื่องหรือ? แต่ความจริงแล้ว เราสามารถเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ตั้งแต่อยู่ในท้องค่ะ
แม้ว่าทารกตัวน้อยๆ จะยังไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาสาระจากหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้ฟังก็ตาม ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ เพราะนั่นไม่ได้หมายความว่าลูกน้อยจะไม่สามารถเรียนรู้อะไรเลย เพราะการที่เด็กทารกได้ยินได้ฟังเสียง จะเริ่มให้ความสนใจ เริ่มหัดแยกแยะระดับเสียงที่แตกต่างกัน ทารกตัวน้อยๆ ชื่นชอบที่จะได้ยินเสียงของพ่อแม่ขณะอ่านหนังสือ ขณะร้องเพลง หรืออุ้มในช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน พ่อแม่ควรถือโอกาสส่งเสียงหรือพูดคุยตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การฟังไปด้วย
ดังนั้น หนังสือเล่มแรกของลูกจึงมีความหมาย เพราะเด็กเล็กๆ นั้นอ่านหนังสือเองไม่ได้ จึงต้องอาศัยพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเป็นคนอ่านให้ฟัง ซึ่งในระหว่างที่มีพ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่แสดงความรักต่อลูกน้อย และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กๆ ได้ใช้สมองในการคิดและจินตนาการ
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้อธิบายไว้ในงาน สัมมนาเชิงปฏิบัติการหนังสือและการอ่านเครื่องมือพัฒนาสมอง Executive Functions (EF) ในเด็กปฐมวัย “คำตอบการปฏิรูปการศึกษาไทย?” ไว้ว่า หนังสือและการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เนื้อหาที่ดีในหนังสือจะมีส่วนบ่มเพาะทักษะที่ดีให้กับลูกน้อย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง โดยอาจจะเริ่มสักช่วงประมาณเดือนที่ 5 – 6 เป็นต้นไป
นางสุดใจ ยังเล่าเสริมว่า จากการทำงานของสำนักที่ผ่านมาได้พบว่า การอ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟังจะไปสร้างวงจรการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหนังสือถือเป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุด แต่สิ่งที่ได้จากการอ่านจะอยู่กับตัวเด็กไปตลอด โดยยกตัวอย่าง ที่ศูนย์เด็กเล็ก จ.ระนอง เด็กเล็กมักทะเลาะกัน คุณครูจึงอ่านหนังสือ ชุดส่งเสริมพฤติกรรมสร้างสรรค์ "มือไม่ได้มีไว้ตี" ที่สอนว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งไม่ดีให้เด็กฟัง หลังจากนั้น 2 อาทิตย์ เด็กสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นมาก และเพื่อเป็นการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ก็ได้มีส่วนช่วยเผยแพร่ความรู้ และรณรงค์ส่งเสริมทักษะเด็กโดยเฉพาะเด็กปฐมวัย ผ่านเครื่องมือหนังสือและการอ่านมาโดยตลอด
สำหรับเทคนิคการเล่านิทาน เพื่อให้ลูกน้อยได้เพลิดเพลินและมีความสุข คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ไม่ยาก มาเริ่มกันเลยค่ะ...
1. คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้โดยการอ่านชื่อเรื่อง อ่านชื่อผู้แต่ง ชื่อผู้วาดบนหน้าปกของหนังสืออย่างชัดคำ เพื่อฝึกให้เด็กเกิดความเคยชิน
2. เวลาอ่านควรถือหนังสือให้มั่นคง แต่สามารถเคลื่อนไหวหนังสือได้อย่างอิสระ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้ดูภาพเต็มตา
3. เวลาอ่านควรอ่านอย่างมีจังหวะ ออกเสียง ตามอารมณ์ของถ้อยคำ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องดัดเสียง การดัดเสียงทำให้เด็กสนุกก็จริง แต่จะทำให้เด็กจดจ่ออยู่ที่ปาก โดยไม่สนใจตัวหนังสือหรือภาพในหนังสือ ทำให้เด็กขาดโอกาสในการอ่านภาพ หรือทำความคุ้นเคยกับตัวอักษรได้
4. การจับหรือการถือหนังสือ คุณพ่อคุณแม่สามารถจับ หรือถือได้ตามความถนัด มือหรือนิ้วจะต้องบังภาพให้น้อยที่สุด เพราะภาพทุกภาพในหนังสือล้วนมีความหมาย เด็กๆ ควรได้เห็นภาพทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือ
5. การเคลื่อนไหวหนังสือได้อย่างเป็นธรรมชาติ ก็จะยิ่งทำให้เด็กๆ สนุก คุณพ่อคุณแม่สามารถขยับหนังสือโยกไปมาเบาๆ ให้ดูสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เช่น เหมือนกับเรือกำลังลอยในทะเล หรือเปิด-ปิดหน้าหนังสือ แทนการเปิด-ปิดประตูตามเนื้อเรื่องที่อ่าน ก็สามารถชักชวนให้เด็กๆ สนุกได้มากขึ้นค่ะ
ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ทำให้เราแทบจะหาเวลาร่วมทำกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับลูกไม่ได้เลย การอ่านหนังสือกับลูก นอกจากจะสร้างทักษะที่ดีให้กับเด็กแล้ว ยังถือเป็นช่วงเวลาคุณภาพ ที่ครอบครัวได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือลูกรักกับหนังสือเล่มแรก แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
เรื่องโดย : เสาวลักษณ์ พิสิษฐ์ไพบูลย์ Team Content www.thaihealth.or.th
เนื้อหาอื่นๆ
เล่นแบบไทยๆ ก็เสริมพัฒนาการลูกได้
“การเล่น” มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเด็ก
อ่านต่อ..
‘จ๊ะเอ๋’ กิจกรรมง่ายๆ เสริมพัฒนาการลูก
เชื่อว่าทุกครอบครัวคงเคยเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกหลานหรือเด็กเล็กกันมาแล้วทั้งนั้น
อ่านต่อ..
สูตรลับ...เสริมพัฒนาลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือ กิจวัตรประจำวัน
อ่านต่อ..