เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากพิษตะกั่ว มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายจะดูดซับสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 4-5 เท่า ซึ่งระบบทางเดินอาหารของเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วได้มากถึงร้อยละ 50 ของทั้งหมดที่รับประทานเข้าไป ขณะที่ระบบทางเดินอาหารของผู้ใหญ่นั้นดูดซึมสารตะกั่วได้เพียงร้อยละ 10 ซึ่งสารตะกั่วที่ถูกดูดซึมเข้าไป จะไปขัดขวางพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็ก ทำให้สติปัญญาบกพร่องตลอดชีวิต
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นสัปดาห์สากลเพื่อป้องกันภัยจากพิษตะกั่วเพื่อ “ปกป้องไอคิวเด็กไทยจากภัยสารตะกั่ว” พร้อมจัดเวทีเสวนาเคียงคู่กัน ณ โรงพยาบาลเด็ก
นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การใส่สารตะกั่วลงในสีเพื่อให้คุณสมบัติของสีนั้นคงทน ได้สีสันที่สดใส ซึ่งเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับสารตะกั่วมาจากหลายทาง อันดับแรกมาจากพ่อแม่ที่อาศัยอยู่ในโรงงานหลอมตะกั่ว โรงงานแบตเตอรี่ ช่างทาสี อู่ต่อเรือที่ใช้สีน้ำมันในการทาสีเคลือบเรือเพื่อความคงทน ตะกั่วติดมากับเสื้อผ้าเมื่อพ่อแม่สัมผัสลูกเด็กสูดหายใจเข้าไปได้รับพิษตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย
นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่าที่ผ่านมามีการสำรวจศูนย์เด็กเล็ก 17 แห่งในกทม.ปรากฏว่าผนังของศูนย์เด็กเล็ก 9 ศูนย์จาก 17 ศูนย์มีสารตะกั่วเกินมาตรฐานเหตุผลที่ศูนย์ เลือกใช้สีน้ำมันเพราะเมื่อเวลาเด็กเขียนผนังสามารถลบออกง่าย อย่างไรก็ตามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสีของศูนย์เด็กเล็กที่ใช้งบประมาณหลักแสนต่อหนึ่งแห่ง และพบว่าเด็กในเขตอุตสาหกรรมมีค่าสารตะกั่วในเลือดเกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร นอกจากนี้ รร.ที่อยู่ในเขตระยะ 50 เมตรกับโรงงาน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบเด็ก70 คนมีสารตะกั่วสูงเกินกำหนดจากทั้ง 130 คน
ประเทศไทย ค่าที่กำหนดยอมรับได้ของสารตะกั่วในเลือดเด็กคือ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าการมีสารตะกั่วในเลือดเพียง 5 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรจะทำให้ระดับไอคิวของเด็กลดลง
นัยนา ณีศะนันท์ กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ เล่าว่า เด็กที่กลุ่มเสี่ยงมากที่สุดคือ 6 เดือนถึง 2 ขวบ เพราะเป็นช่วงวัยแห่งการรื้อค้นต้องเอาของเข้าปาก ปรากฏมีเคสที่พ่อแม่ทำงานเป็นช่างวาดสีเบญจรงค์ อาการที่พบจากเด็กที่เดินได้แล้วเดินไม่ได้ เกิดจากพฤติกรรมเด็กชอบอมพู่กันเล่น นอกจากนี้ยังพบเคสเด็กที่อุ้มผางซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไปเจาะเลือดเด็กพบว่ามีสารตะกั่วเกินเพราะชุมชนใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดมาตรฐานควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารตั้งแต่ปี 2538 อันเป็นปีเดียวกันที่ประเทศไทยออกกฎหมายเพิกถอนสารตะกั่วจากน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เนื่องจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์สีเป็นเพียงมาตรฐานสมัครใจ และปี 2556 มูลนิธิฯสำรวจสีในท้องตลาด พบสีน้ำมันทาอาคารร้อยละ 79 มีสารตะกั่วปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐานผลิต ภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แบบสมัครใจ ซึ่งกำหนดให้มีสารตะกั่วเจือปนได้ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) นอกจากนี้ พบผลิตภัณฑ์สีจำนวนมากที่แสดงฉลาก “ไร้สารตะกั่ว” แต่ตรวจพบสารตะกั่วเจือปนสูง ตั้งแต่ 230 พีพีเอ็ม ถึง 56,000 พีพีเอ็ม
ด้าน ชาญณรงค์ ไวยพจน์ ประธานอนุกรรมการวิชาการด้านวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เสนอทางออกของศูนย์เด็กเล็กว่า ทางสถาปัตยกรรมนั้นไม่ต้องใช้สีทาก็ได้แต่ใช้การออกแบบ โดยเลือกใช้ปูนฉาบเรียบกับผนังแทน ส่วนการลอกสีเก่านั้นช่างต้องปกป้องตัว เองโดยการขูดลอกนั้นต้องมีระบบป้องกันไม่ให้สีนั้นปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อม
มีงานวิจัยในสหรัฐเมื่อปี 2550 ศึกษากลุ่มเด็กชั้นประถมที่ 4 จำนวน 8,600 คนพบสารตะกั่วเป็นพิษในร่างกาย2 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร มีความสัมพันธ์กับผลการสอบวิชาคณิตศาสตร์และทักษะการอ่านของเด็กที่ด้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ พบว่าสารตะกั่วส่งผลระยะยาว ทำให้เด็กเติบโตเป็นคนก้าวร้าว และเป็นโรคสมาธิสั้น