โภชนาการที่ดีย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก โดยเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ ป้องกันสุขภาพ และวางพื้นฐานให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพตนได้อย่างเต็มที่ แต่จากการสำรวจเด็กไทยทั่วประเทศ 2.29 ล้านคน ในปี 2557 พบว่า มีเด็กไทยมีปัญหาโภชนาการทั้งขาดและเกิน สาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมโภชนาการที่ดี โดยเฉพาะอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดบริการให้แก่นักเรียนมีคุณภาพต่ำ
แม้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 จากวันละ 13 บาทต่อคน เพิ่มเป็นวันละ 20 บาทต่อคน รวมงบประมาณเกือบ 25,000 ล้านบาท โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริหารจัดการงบอาหารกลางวันดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้การจัดการอาหารดีขึ้น แต่ยังขาดสารอาหารที่จำเป็นและอาจยังไม่เพียงพอ เพราะต้องยอมรับว่า การควบคุมคุณภาพอาหารให้ได้มาตรฐานนั้น ทำได้ยาก โดยเฉพาะโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สังกัด อปท.ขนาดเล็ก ยังขาดความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการที่ถูกต้อง
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยให้ความสำคัญกับโภชนาการเด็กเป็นอันดับต้นๆ โดยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันนักเรียนตั้งแต่ พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดบริการอาหารที่ได้มาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย โดยงบอาหารกลางวันที่ ครม.มีมติเพิ่มเป็น 20 บาทนั้น จะส่งผลให้นักเรียนทั่วประเทศเกือบ 6 ล้านคนได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตาม หากจะให้งบประมาณเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุด อปท.ที่จะรับไปบริหารจัดการต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก
ทั้งนี้ จากการติดตามของกรมอนามัยพบว่า มีโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับการโอนเงินค่าอาหารกลางวันนักเรียนมื้อละ 20 บาท จาก อปท.หรือโอนเงินล่าช้ามาก ทำให้นักเรียนขาดโอกาส ไม่ได้กินอาหารที่มีคุณภาพ หรือบางแห่งยังจัดบริการอาหารกลางวันที่ไม่ได้คุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น ความพร้อมของแม่ครัว ระบบการจ้างเหมาที่โรงเรียนไม่สามารถควบคุมคุณภาพและวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารได้ หรือครูผู้ดูแลยังไม่มีความรู้การจัดการอาหารที่ดีพอ ทั้งเรื่องคุณค่าอาหารและปริมาณที่เพียงพอ ทำให้อาหารไม่ได้คุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนอันจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตต่อพัฒนาการของเด็กทุกๆ ด้าน
เพราะการจัดอาหารเด็กไม่ใช่ให้ได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ เพียงอย่างเดียว ยังต้องจัดการในด้านปริมาณที่เหมาะสมของสารอาหารแต่ละประเภท เช่น แคลเซียมช่วยในการเติบโตด้านความสูง วิตามินเอช่วยบำรุงผิวพรรณและการมองเห็น และธาตุเหล็กช่วยพัฒนาสมองด้านความจำและการเรียนรู้ และสถิติที่พบยังมีเด็กที่มีภาวะเตี้ยมากถึงร้อยละ 35.9 สะท้อนถึงการจัดอาหารที่ขาดสารอาหารที่จำเป็น เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ ดังนั้นต้องเพิ่มผัก ตับ และเนื้อสัตว์
“กรมอนามัยได้ค้นพบรูปแบบในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้มีประสิทธิผล คือการมีครัวกลาง หรือครัวประจำท้องถิ่นที่มีแม่ครัวและนักโภชนาการประจำอยู่ โดยนำงบประมาณทั้งหมดมารวมกันและควบคุมคุณภาพเบ็ดเสร็จในจุดเดียว เมื่อปรุงอาหารเสร็จก็จัดส่งไปตามโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่อไป เช่น อบต.เมืองแก จ.สุรินทร์ ที่ได้ตั้งครัวกลางขึ้นจนประสบความสำเร็จไปแล้ว”
อาหารกลางวันเด็กจะมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับนโยบายของ อปท.ว่าจะมีวิธีการบริหารอย่างไรให้เด็กๆ ได้รับประโยชน์และคุณภาพทางโภชนาการเต็มวงเงินคนละ 20 บาทต่อมื้อ ตามที่รัฐบาลจัดสรรให้
ที่มา หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ.2558 ปีที่ 14 ฉบับที่ 4840 หน้า 4