พัฒนาการ IQ&EQ
พัฒนาการ IQ&EQ
» เตรียมพร้อมคณิตศาสตร์ตั้งแต่ก้าวแรก...ของลูกน้อย
29 Aug 2014 05:08
 
Premath-skill 1

เตรียมพร้อมคณิตศาสตร์ตั้งแต่ก้าวแรก...ของลูกน้อย

                คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูมักสอนเด็กตั้งแต่เล็กๆ ก่อนที่เด็กจะได้เรียนรู้วิชานี้ในโรงเรียน แต่จะเป็นลักษณะการท่องจำมากกว่าการสอนในเรื่องจำนวน  เด็กที่ได้รับการเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมักจะเรียนได้ดีกว่าเมื่อเข้าเรียนชั้นอนุบาล และพบว่าทักษะด้านคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องกับการทำนายความสามารถในอนาคตได้มากที่สุด  ตามด้วยทักษะด้านการอ่านและสมาธิ
                พ่อแม่ คือ ส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ของลูกน้อย ตั้งแต่วัยเตาะแตะจนถึง 5 ปี เด็กๆจะได้ใช้ทักษะนี้ในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมต่างๆที่พ่อแม่ทำร่วมกับเขา เช่น การนับขั้นบันไดที่เด็กขึ้นลง การแบ่งของเล่นหรือขนมให้พี่น้องหรือเพื่อน  การพัฒนาทักษะโดยผ่านกิจกรรมเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญต่อความพร้อมของเด็กในการเข้าสู่โรงเรียน ทำให้เด็กสามารถแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในโรงเรียนได้อย่างก้าวกระโดด


ทักษะทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับลูกน้อยก่อนเข้าสู่โรงเรียน

การสังเกต สิ่งของเหมือนกันหรือต่างกัน

          โดยสอนให้เด็กๆสังเกตวัตถุหรือสิ่งของที่เหมือนกัน ตามขนาด รูปร่าง สี เช่น ให้ดูสิ่งที่เด็กพบเห็นอยู่ทุกวัน เช่น เครื่องใช้ของเด็กโดยให้เด็กสังเกตว่ามีอะไรของเด็กที่เหมือนกันบ้าง  หรือในขณะที่พาเด็กเดินไปยังสถานที่ต่างๆ พ่อแม่เก็บใบไม้ที่หล่นอยู่บนพื้นมาให้เด็กดูแล้วให้เด็กสังเกตสีของใบไม้ต่าง ๆ เด็กจะเห็นว่า ใบไม้ ส่วนใหญ่มีสีเขียว แต่บางใบก็มีสีแตกต่างไป ส่วนรูปร่างลักษณะก็มีทั้งคล้ายกันและต่างกัน เป็นต้น

การเปรียบเทียบสิ่งของชนิดเดียวกันหรือต่างกัน

                โดยสอนให้เด็กๆเปรียบเทียบสิ่งของหรือวัตถุ 2 ชิ้น ตามขนาด ความยาว ความสูง น้ำหนัก เช่น ใหญ่- เล็ก ยาว - สั้น สูง -เตี้ย หนัก - เบา ซึ่งในการสอนแรกๆ ควรใช้สิ่งของหรือวัตถุชนิดเดียวกันก่อน เมื่อเด็กทำได้ดีแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นสิ่งของหรือวัตถุต่างกัน จนทำได้ดีจึงให้เปรียบเทียบ “ขั้นกว่า” โดยใช้สิ่งของหรือวัตถุ 3 ชิ้น เช่น ใหญ่กว่า เล็กกว่า ยาวกว่า สั้นกว่า สูงกว่า เตี้ยกว่า หนักกว่า เบากว่า ซึ่งจะทำให้เด็กรู้จักการประมาณอีกด้วย

การจัดลำดับสิ่งของ

          โดยสอนให้เด็กๆจัดลำดับสิ่งของหรือวัตถุตั้งแต่ 3 ชิ้นขึ้นไป ตามขนาด ความยาว ความสูง น้ำหนัก เช่น เรียงลำดับจากใหญ่ที่สุดไปจนเล็กที่สุด ยาวที่สุดไปจนสั้นที่สุด สูงที่สุดไปเตี้ยที่สุด ฯลฯ
การวัด :  สอนเด็กให้หาความยาว ความสูง และน้ำหนักของวัตถุโดยใช้หน่วยวัด เช่น นิ้ว ฟุต ปอนด์ หรือการจับเวลา (เป็นนาที)

การนับ

          โดยสอนให้เด็กๆจับคู่หนึ่งต่อหนึ่ง เปรียบเทียบของสองกลุ่ม ให้เข้าใจความหมายของ เท่ากัน ไม่เท่ากัน มากกว่า น้อยกว่า นับเลขปากเปล่าไปข้างหน้า ถอยหลัง อาจยังเป็นการนับเลขแบบท่องจำ สอนนับจำนวน เช่น นับจำนวนอวัยวะในร่างกาย “เรามีตา 2 ตา” นับสมาชิกในบ้าน “บ้านของเรามีสมาชิกอยู่ 4 คน คือ พ่อ แม่ พี่ และหนู” นับจำนวนขนม ผลไม้ ขณะรับประทานอาหารว่าง “มีส้ม 3 ผล” “หนูขอกินขนม 2 ชิ้น” หรือนับจำนวนสิ่งที่เด็กพบเห็นบ่อยๆ เป็นต้น เมื่อเด็กหยิบจำนวนสิ่งของหรือวัตถุมาให้ได้ตามจำนวนที่บอกจึงค่อยสอนความสัมพันธ์ของตัวเลขกับจำนวนโดยการแทนค่าของจำนวนด้วยตัวเลข

รูปทรงและขนาด

                โดยสอนให้เด็กรับรู้ความสัมพันธ์ของรูปร่าง รูปทรง ขนาด พื้นที่ ตำแหน่ง ทิศทางและการเคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนวิชาเรขาคณิตต่อไป ชวนเด็กพูดคุยถึงสิ่งของในบ้านว่ามีรูปร่าง รูปทรง เป็นอย่างไร เช่น ในบ้านของเรา อะไรที่มีรูปร่าง/รูปทรงเป็นวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมบ้าง เมื่อเด็กเริ่มบอกรูปร่างพื้นฐานได้ ค่อยสอนรูปทรงที่ยากขึ้น

การจัดหมู่

                โดยสอนให้เด็กจัดสิ่งของเป็นหมวดหมู่ตามการเรียกชื่อสิ่งของ เช่น กองนี้เป็นช้อน กองนี้เป็นแก้วน้ำ กองนี้เป็นชาม และการจัดหมวดหมู่ตามลักษณะที่กำหนด เช่น กองนี้เป็นเครื่องแต่งกาย กองนี้เป็นผลไม้ กองนี้เป็นเครื่องใช้ กองนี้เป็นสัตว์ เป็นต้น

การรวมหมู่

                โดยสอนให้เด็กนำสิ่งของมารวมกันให้เป็นกองใหญ่ขึ้น มีจำนวนมากขึ้น เช่น มีส้มอยู่ 3 ผลนำมารวมกับชมพู่ 2 ผลรวมทั้งส้มกับชมพู่แล้วมี 5 ผล เป็นต้น

การแยกหมู่

                โดยสอนให้แยกของที่กองรวมกันอยู่มาแยกของที่เหมือนกันเป็นกองๆ เช่น มีของเล่น  2 ชนิดกองรวมกันไว้ แล้วให้เด็กแยกของเล่นที่เหมือนกันออกเป็น 2 กอง เป็นต้น

อ้างอิง
1. Developing Early Math Skills. Available from  http://www.zerotothree.org/child-development/early-development/supporting-early-math-skills.html.

2. Early Childhood : Where Learning Begins - What Is Mathematics? : Mathematical activities for parents and their 2- to 5-year-old children. Available from http://www.kidsource.com/education/math/whatis.html.

3. Teaching Mathematical Concepts. Available from http://s22318.tsbvi.edu/mathproject/ch1.asp#main.
4.นิตยา คชภักดี. พัฒนาการของเด็ก. ใน : วันดี วราวิทย์, ประพุทธ ศิริปุณย์, สุรางค์ เจียมจรรยา, บรรณาธิการ. ตำรากุมารเวชศาสตร์ (ฉบับเรียบเรียงใหม่ เล่ม 3). กรุงเทพฯ :  โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2541 : 1-6.
5. นพวรรณ ศรีวงค์พานิช//2554//เด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการ//เข้าถึงได้จาก : http://www.rajanukul.com/main/index.php?mode=academic&group=&submode=academic&idgroup=12&group=1  
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ไสยวรรณ//2556//คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย//เข้าถึงได้จาก :
http://www.e-child-edu.com/youthcenter/content/articles/math-for-child.html

คณะผู้จัดทำ

แพทย์หญิงอัมพร          เบญจพลพิทักษ์  ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล
แพทย์หญิงนพวรรณ      ศรีวงค์พานิช      รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบบริการฯ
นางนิรมัย                     คุ้มรักษา             พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
นางณัฐชนก                  สุวรรณานนท์      นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ



เนื้อหาอื่นๆ
การอ่านดีกับลูกอย่างไร
การอ่านเป็นประตูสู่โลกจินตนาการของคนได้ทุกวัย
อ่านต่อ..
เล่นแบบไทยๆ ก็เสริมพัฒนาการลูกได้
“การเล่น” มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเด็ก
อ่านต่อ..
‘จ๊ะเอ๋’ กิจกรรมง่ายๆ เสริมพัฒนาการลูก
เชื่อว่าทุกครอบครัวคงเคยเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกหลานหรือเด็กเล็กกันมาแล้วทั้งนั้น
อ่านต่อ..
สูตรลับ...เสริมพัฒนาลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือ กิจวัตรประจำวัน
อ่านต่อ..