นมแม่ดีที่สุดสำหรับทารกเพราะให้สารอาหารภูมิต้านทานโรค
ส่งเสริมพัฒนาการทางสมองและความผูกพันระหว่างแม่ลูก
น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดที่ลูกต้องการสำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของการเริ่มต้นชีวิต เนื่องจากมีสารอาหารพิเศษที่เรียกว่า พรีไบโอติก ซึ่งเป็นแบคทีเรียในกระเพาะอาหารที่มีประโยชน์ แบคทีเรียเหล่านี้จะช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคและการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น ช่วยให้ทารกเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข สุขภาพดี และพร้อมที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งรอบตัว และยังมีกรดไขมันที่ช่วยพัฒนาสมองของลูกด้วย
ความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- คุณค่าทางโภชนาการ นมแม่มีสารอาหารครบถ้วนและตอบสนองต่อความต้องการของทารก โปรตีนในนมแม่มีกรดอะมิโนที่แตกต่างจากนมวัว จึงย่อยง่ายและร่างกายทารกสามารถนำไปใช้อย่างเต็มที่ คาร์โบไฮเดรตที่มีมากที่สุดในนมแม่คือแลคโตส ช่วยการดูดซึมของธาตุเหล็กและแคลเซียมในลำไส้ ไขมันในนมแม่มีกรดไขมันที่จำเป็นครบถ้วน น้ำย่อยไขมันที่มีในนมแม่ ช่วยย่อยไขมันเพื่อให้ทารกใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานได้อย่างเต็มที่ โซเดียมและเกลือแร่อื่นในนมแม่มีน้อยกว่านมวัว ไตของทารกจึงไม่ต้องทำงานหนักเกินไปในระยะเริ่มต้นของชีวิต
- สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค นมแม่มีสารที่ปกป้องลำไส้จากการติดเชื้อ เช่น lysozyme, secretor lgA, complement, interferon, oligosaccharides, nucleotide, cytokine, lactoferrin, scid กรดอะมิโนในนมแม่ เช่น glutamine , arginine และ threonine ช่วยการเจริญของลำไส้ ทั้งหมดนี้กระตุ้นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายทารกให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต
- ทำให้ทารกเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ทารกที่ได้รับนมแม่ในช่วงอายุ 3-4 เดือนแรก มีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก มีขนาดเส้นรอบศีรษะโตกว่าค่ามาตรฐานในขวบปีแรก จอประสาทตาของทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียว 4 เดือน มีปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็วกว่าทารกที่ได้รับนมแม่น้อยกว่า 4 เดือน
- มีผลดีต่อจิตใจของแม่และลูก การสัมผัสและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกตั้งแต่ระยะแรกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจของทั้งพ่อแม่และลูก ก่อให้เกิดพัฒนาการทางด้านสมอง สติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ และบุคลิกภาพที่สมบูรณ์พร้อมในวัยเด็กโตและวัยผู้ใหญ่
- ช่วยสร้างเสริมพัฒนาการทางสมองและเชาวน์ปัญญา ทารกได้รับนมแม่ในช่วง 4-9 เดือนแรกของชีวิต มีผลการประเมินโดยใช้ Bayley Motor and Mental Scales ได้คะแนน sensory motor development, vocabulary และ visiomotor co-ordination เพิ่มขึ้น เมื่อเด็กอายุ 7-13 ปี มีระดับสติปัญญาสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับนมแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกเกิดก่อนกำหนด มีคะแนนพัฒนาการทางสมองเพิ่มขึ้นถึง 8 จุด
- ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อภาวะภูมิแพ้ การให้นมแม่อย่างเดียว 4 เดือน ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืดเมื่ออายุ 6 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว การเสริมนมผสมในสัปดาห์แรกของชีวิต การให้นมวัวก่อนอายุ 6 เดือน หรือการสูบบุหรี่ของพ่อแม่ตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้ นมแม่ช่วยลดอันตรายผื่นแพ้ที่ผิวหนังในทารกที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว
- ช่วยป้องกันการเป็นโรคหลายชนิด ทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวนาน 4 เดือนขึ้นไปมีอัตราการเจ็บป่วยลดลง เช่น โรคอุจจาระร่วง โรค necrotizing enterocolitis โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่รุนแรง ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันสุขภาพระยะยาว ไม่ให้เป็นโรคหรือลดความรุนแรงของโรคกล้ามเนื้อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และการป้องกันภาวะตายกะทันหันของทารก
- ช่วยปกป้องสุขภาพของแม่ การให้ลูกดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด ช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมน เช่น prolactin และ cxytocin ฮอร์โมน prolactin ช่วยสร้างน้ำนม ส่วน cxytocin ช่วยการบีบตัวของมดลูก จึงทำให้มีภาวะตกเลือดหลังคลอด มดลูกเข้าอู่เร็ว มีภาวะ lactation amenorrhea ที่ช่วยให้ตั้งครรภ์ห่างลง สลายไขมันที่สะสมขณะตั้งครรภ์ให้ลดลงอย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม ในระยะก่อนหมดประจำเดือน และป้องกันภาวะกระดูกพรุน
- ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ครอบครัว และสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงด้วยนมแม่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่ ค่าอุปกรณ์ในการให้อาหารทารก ค่าวัสดุเชื้อเพลิง ไม่สูญเสียเวลาในการเตรียมนมผสม และทำความสะอาดอุปกรณ์ ลดการใช้จ่ายด้านการรับบริการที่เกิดจากความเจ็บป่วย ลดขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ ลดการตัดไม้ทำลายป่าที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ทำให้เป็นชุมชนที่ปราศจากขยะ มีสมาชิกของชุมชนที่ฉลาดทั้งด้านอารมณ์และสติปัญญา
การเลี้ยงดูแลด้วยนมแม่อย่างเดียวถึงอายุ 6 เดือน
ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวถึงอายุ 6 เดือน ถ้าลูกคลอดครบกำหนด ได้รับนมแม่เต็มที่ เติบโตดี และแม่สุขภาพแข็งแรง
องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเดียว โดยไม่ให้อาหารอื่นร่วมด้วย ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน เมื่อ พ.ศ. 2544 เนื่องจากการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ พบว่ามีผลดี ที่สำคัญคือการลดโอกาสติดเชื้อทางเดินอาหาร ซึ่งได้ทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว และแม่จะมีระยะ lactation amenorrhoea ที่นานขึ้น น้ำหนักหลังคลอดจะลดได้ดี ป้องกันโรคอ้วน ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพแม่
การได้รับนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ไม่มีผลเสียต่อทารก ถ้าทารกเป็นทารกคลอดครบกำหนด กินนมแม่ได้อย่างเต็มที่และเจริญเติบโต รวมทั้งแม่มีสุขภาพและภาวะโภชนาการดี