เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์
ต้องยอมรับกันอย่างไร้เงื่อนไขว่า ไม่มีใครปฏิเสธ “สื่อในยุคดิจิทัล” ได้เลย แต่ไม่ได้หมายความว่าสื่อที่เป็นหนังสือที่จับต้องได้จริงนั้นจะหมดความสำคัญลงไป เพราะสื่อหนังสือที่จับต้องได้จริงยังคงทรงพลังอยู่มากสำหรับการพัฒนาสมอง กาย ใจ และพัฒนาการด้านทักษะที่สำคัญของเด็กในยุคศตวรรษที่ 21
โปรเจคใหม่ของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จับมือกับเครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม สร้างสรรค์หนังสือนิทานภาพและการ์ตูน ชุด “ฉลาดรู้ทันสื่อดิจิทัล” เพื่อให้เด็กยุคใหม่ได้คิดทันโลกที่เปลี่ยนไป และให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผลดีและผลเสียของสื่อในยุคดิจิทัล
ในช่วงอายุ 0-6 ปี เป็นช่วงที่สมองของมนุษย์เจริญเติบโตได้สูงสุดและช่วง 3-5 ปีเป็นช่วงของการบ่มเพาะคุณลักษณะอันสำคัญของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องมีทักษะของการบริหารจัดการสมองและชีวิตด้วยตัวเองโดยผ่านสื่อที่เหมาะสมเท่านั้น และ ‘นิทาน’ ก็เป็นสื่อที่ทรงพลังมากที่สุด ลงทุนคุ้มค่ามากที่สุดในการช่วยสร้างคุณลักษณะที่ดีให้แก่เด็ก การอ่านไม่ได้เป็นเพียงการสร้างสุขภาวะทางปัญญาเท่านั้น แต่เป็นการสร้างสุขภาวะองค์รวมทั้งกาย ใจ สังคม ปัญญา ได้อย่างครอบคลุมที่สุด
นางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เล่าข้อมูลที่น่าตกใจให้เราฟังว่า จากข้อมูลของ Child Wise สถาบันวิจัยด้านเด็กและวัยรุ่นในประเทศอังกฤษ วิจัยพบว่าเด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล วันละ 6 – 8 ชั่วโมง ส่งผลให้เด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้น 30% ร่างกายไม่แข็งแรง มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs) สูง เพราะเด็กที่ติดหน้าจอและสื่อดิจิทัลจะนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ ไม่เกิดกิจกรรมทางกายหรือเล่นกีฬาตามวัยที่ควรจะเป็น รวมไปถึงมีพัฒนาการที่ล่าช้าอีกด้วย เรายังคงเห็นความสำคัญและคุณค่าในเชิงบวกของสื่อดิจิทัล แต่สื่ออ่านที่เป็นหนังสือยังมีความสำคัญที่เราจำเป็นต้องมีเช่นกัน
ถึงเวลาที่ภาคีเครือข่ายด้านการอ่านต้องมารวมพลังกัน เพื่อให้สื่อนิทาน การ์ตูน ให้กลับมามีพลังอย่างเข้มแข็ง และวางรากฐานการอ่านในเด็กเล็กช่วง 2-3 ขวบ ก่อนที่ผู้ปกครองจะพาเข้าสู่สื่อดิจิทัล เมื่อเขามีทักษะการอ่านที่เข้มแข็ง เขาจะรู้จักคิดวิเคราะห์และแยกแยะว่าอะไรดี หรือไม่ดี อะไรเชื่อได้หรือไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อกระแสของโลกที่เปลี่ยนไปเร็วได้นำสื่อใหม่ๆ เข้ามาก็จะทำให้เด็กสามารถแยกแยะได้จากพื้นฐานที่เข้มแข็ง และรู้ทันสื่อ รวมถึงนำสื่อไปใช้อย่างสร้างสรรค์
วิธีคิดให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ
1.ฝึกวินัยการสังเกตและตั้งคำถามกับสื่อ ควรสนับสนุนให้เด็กเกิดความสงสัยในสื่อแล้วคิดวิเคราะห์หาคำตอบ ก่อนจะเชื่อและคล้อยตาม
2.วิเคราะห์สื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยประสบการณ์ที่ได้สั่งสมและเรียนรู้มา และควรส่งเสริมให้เด็กฝึกฝนในเรื่องของการฟังให้ดีด้วย
3.‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’ ให้ใช้เหตุผล ทุกขั้นตอนของการอธิบาย แลกเปลี่ยน หรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ ควรเป็นไปด้วยเหตุและผล จะส่งเสริมให้เกิดวุฒิภาวะขึ้นในตัวเด็ก
4.ประเมินเจตนาและคุณค่าของสื่อ ในที่สุดแล้วเด็กควรรู้ว่า สื่อนั้นมีเจตนาอะไร ต้องการอะไร และคาดหวังให้เราเกิดพฤติกรรมอย่างไร รวมถึงคุณค่าของสื่อว่าอยู่ในระดับใด เมื่อเด็กสามารถอ่านเจตนาและประเมินค่าสื่อได้ แปลว่าเด็กมีแนวโน้มเท่าทันสื่อ
“กระต่ายไม่ตื่นตูม” เป็นหนึ่งในหนังสือนิทานภาพและการ์ตูน ชุด “ฉลาดรู้ทันสื่อดิจิทัล” ซึ่งเขียนเรื่องและวาดภาพโดย พาณี อิทธิบำรุงรักษ์ ว่าด้วยเรื่องกระต่ายน้อยตัวหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อและแม่กระต่าย ที่มีความตระหนักในการเลือกสื่อดิจิทัลให้ลูกเรียนรู้ แต่ระหว่างนั้นมีโฆษณาที่แทรกเข้ามา ทำให้กระต่ายน้อยเอ๊ะใจ สนใจ และอยากได้อยากเป็นเหมือนในโฆษณา แต่แม่กระต่ายที่ดูสื่อพร้อมลูกกระต่ายน้อยด้วยนั้นได้ให้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องกับลูกน้อย ทำให้กระต่ายน้อยได้รับรู้ข้อมูลจริงไม่คล้อยตามข้อมูลชวนเชื่อจากในโฆษณา
กระต่ายไม่ตื่นตูม สะท้อนให้เราเห็น ถึงมุมมองการรับสื่อของลูก และแง่มุมความจริงที่พ่อกับแม่ควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับลูกน้อย รวมไปถึงความใกล้ชิดผูกพันระหว่างครอบครัวโดยมีสื่อเป็นตัวเชื่อมประสาน โฆษณาในยุคปัจจุบันที่มีทั้งชวนเชื่อ ขายของ ทั้งตามความจริงและเกินจริง ถ้าเด็กมีวิจารณญาณและคิดวิเคราะห์ ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อต่างๆ
สำหรับ หนังสือนิทานภาพและการ์ตูนชุด “ฉลาดรู้ทันสื่อดิจิทัล” จำนวน 10 เรื่อง จากการสร้างสรรค์งานของนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ประกอบด้วย โอม รัชเวทย์, อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์, จีรพงษ์ ศรนคร, พาณี อิทธิบำรุงรักษ์, อินทรายุธ เทพคุณ, วิรัตน์ ยืนยงพัฒนากิจ, ณรงค์ จรุงธรรมโชติ, เรืองศักดิ์ ดวงพลา, สละ นาคบำรุง, สมบัติ คิ้วฮก โดยมีหนังสือนิทานภาพและการ์ตูนน่าอ่าน อย่างเช่น หมาป่ากับลูกแกะ ดีลีท กระต่ายน้อยไม่ตื่นตูม หนูมาลีกับสีฝุ่น มองบน ฯลฯ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน www.cclickthailand.com และเว็บไซต์แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน www.happyreading.in.th