เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
» พฤติกรรมเลียนแบบ ส่งผลเสียต่อเด็กหรือไม่?
04 Oct 2017 16:07

พฤติกรรมเลียนแบบ ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการของเด็กที่เป็นไปได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ทำให้เกิดคำถามต่อคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่าน ว่าพฤติกรรมเลียนแบบส่งผลเสียต่อตัวเด็กหรือไม่อย่างไร

เด็กส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยกำลังเติบโตมักมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ เพื่อน หรือคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเด็กเอง ซึ่งมีทั้งพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ในส่วนของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะกับวัยของเด็ก พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และอื่น ๆ

ในเรื่องของผลเสียต่อตัวเด็ก หากเป็นกรณีที่พฤติกรรมนั้นไม่เหมาะกับช่วงวัยของเด็ก ส่วนมากมักเป็นการซึมซับจากพ่อแม่ซึ่งเกิดจากความใกล้ชิด และเป็นเรื่องธรรมชาติ  เช่น อยากทาลิปสติกหรือสวมรองเท้าส้นสูงเหมือนคุณแม่ ที่อาจทำให้ผู้ปกครองกังวลใจว่าลูกจะเป็นเด็กที่โตเกินตัว หรือในเด็กผู้ชายพ่อแม่ก็อาจกลัวว่าลูกจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน  แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนมากหากเกิดกับเด็กเล็ก ๆ ช่วง 3-4 ขวบ มักเป็นเรื่องปกติและไม่ส่งผลเสียในระยะยาว เพราะเมื่อเด็กโตขึ้น จะมีสิ่งอื่นที่น่าสนใจกว่ามาแทนที่ตามวัยของเด็ก เช่น เพื่อน การเรียน กิจกรรมบางอย่าง เป็นต้น ส่งผลให้พฤติกรรมเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องดังกล่าวหายไปเองตามธรรมชาติ

ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่อาจป้องกันปัญหาเบื้องต้นได้ในช่วงที่ลูกแสดงออกถึงพฤติกรรมดังกล่าว โดยการไม่แสดงความสนใจ ไม่ชื่นชมยกย่อง  หรือพยายามแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้ดีเสมอไป เช่น คุณแม่ที่ต้องแต่งหน้าออกจากบ้านไปทำงานทุกวัน เมื่อถึงวันหยุดอาจไม่ต้องแต่งหน้าแล้วสื่อสารกับลูกว่าการไม่แต่งหน้าในวันหยุดเป็นเรื่องที่ดีอีกรูปแบบหนึ่ง

แต่ถ้าหากเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่เด็กไปซึมซับมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก อาจเป็นเพื่อนที่โรงเรียนหรือจากสื่อต่าง ๆ หากเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สามารถแก้ไขได้โดยการแสดงอาการไม่ยอมรับในสิ่งที่เด็กทำ หรือเพิกเฉยต่อกิริยาก้าวร้าวนั้น เด็กจะรับรู้ได้ว่าการแสดงพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเป็นคนที่มีความสำคัญกับตัวเด็กเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หากผู้ใหญ่ในบ้านไม่ยอมรับในตัวเขา เขาก็จะเลิกแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นไปในที่สุด แต่ถ้าเป็นความก้าวร้าวที่มีความรุนแรง ก็จำเป็นต้องหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ได้แก่ การทำร้ายคนอื่น การทำลายข้าวของ

สำหรับพฤติกรรมการเลียนแบบศิลปินคนดังต่าง ๆ อาจแสดงให้เห็นถึงความสนใจในตัวเด็กเอง หรือเป็นเรื่องของพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ ที่อาจส่งผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ส่วนมากคุณพ่อคุณแม่มักเป็นกังวลเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนดังเหล่านั้น ควรป้องกันและแก้ไขได้โดยการพยายามชี้แจงเด็กทีละน้อยให้เด็กค่อย ๆ ซึมซับและเข้าใจ และรู้จักแยกแยะพฤติกรรมที่ควรทำและไม่ควรทำในอนาคต

สิ่งสำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องพยายามใกล้ชิดเด็กให้มาก ๆ ทุกช่วงวัย โดยในแต่ละช่วงวัยก็จะมีการแสดงออกถึงความรักความเอาใจใส่ที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นเด็กเล็กที่ต้องการความรักความอบอุ่น พ่อแม่ก็ควรให้ในส่วนนี้มาก ๆ แต่ถ้าหากเด็กเริ่มโต เริ่มเข้าใจเหตุผลและมีความคิดเป็นของตัวเอง สามารถดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ในระดับหนึ่ง การแสดงออกถึงความใกล้ชิดเอาใจใส่ของพ่อแม่ก็จะเปลี่ยนเป็นการพูดคุยแทน ทั้งในระหว่างการทำกิจกรรมหรือการเล่น รวมถึงเมื่อเด็กมีคำถามมาปรึกษา การพูดคุยควรเป็นลักษณะการแลกเปลี่ยน อธิบาย หรือซักถามความเห็นของเด็กบ้าง ไม่ควรกังวลจนเผลอซักไซ้หรือควบคุมเด็กมากจนเด็กรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจที่จะเปิดใจคุยกับพ่อแม่ในเรื่องต่าง ๆ.

 

รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เสาร์ที่ 30 กันยายน 2560



เนื้อหาอื่นๆ
เคล็ดลับเพิ่มสายใยระหว่างพ่อแม่ลูก
ครอบครัว คือ ที่ที่สร้างความสุขให้เรา รวมถึงเป็นที่พักพิงใจ
อ่านต่อ..
'นมแม่' รากฐานแห่งชีวิต
เพราะนมแม่ คือวัคซีนหยดแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อย และเสริมภูมิคุ้มกัน
อ่านต่อ..
ป้องกันโรคติดเชื้อใน Nursery
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเพิ่มเติมนั่นคือ การระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรค
อ่านต่อ..
'ขนมเด็ก' ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
ขนมเด็กคืออะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อ ขนมเด็กอาจจะเรียกเป็น ปัจจัยที่ 5 หรือ 6 ของเด็กไปแล้ว
อ่านต่อ..
อันตรายกับเด็กอ้วน
ป้องกันไม้ให้เด็กอ้วนทำอย่างไร
อ่านต่อ..