เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
» ‘นมแม่’ พัฒนาสมองลูกอย่างไร?
26 Jun 2017 16:49
เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลประกอบจาก มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และรักลูกกรุ๊ป
ว่ากันด้วยเรื่องการประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งประกอบด้วยหลายๆ ปัจจัยไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ความพยายาม ความอดทน การมีแรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่น ความชำนาญในสิ่งนั้นๆ ฯลฯ หรือสิ่งใดๆ ก็ตาม แต่ทราบหรือไม่คะว่าจุดแรกเริ่มที่จะนำมาซึ่งการประสบความสำเร็จในชีวิตของมนุษย์ คือ “นมแม่”
นมแม่กับการพัฒนาสมองลูกรัก
พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย อธิบายเรื่องนมแม่กับการพัฒนาสมองลูกไว้ว่า นมแม่เป็นอาหารเริ่มแรกที่แม่สร้างไว้ให้ลูก จุดเริ่มต้นที่จะทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จได้คือ “วางลูกไว้บนอกแม่ครึ่งชั่วโมงหลังคลอด” ซึ่งนับว่าเป็นชั่วโมงที่สำคัญสุด นอกจากนี้เมื่อตาของลูกกับแม่ประสานกัน เกิดการโอบกอด ลูกได้ดูดนมแม่ ได้ยินเสียงหัวใจของแม่หรือ สายสัมพันธ์จากการโอบกอดแนบเนื้อ (Skin to Skin Contact) ได้สร้างขึ้นเป็นสายใยแห่งความผูกพันตั้งแต่แรกเกิดนั่นคือ สื่อสัมพันธ์ที่ไปกระตุ้นสมอของลูก ที่เป็นซิแนปส์ (synapse) ซึ่งเสมือนเป็นแขนขาเชื่อมเซลล์ประสาทนับพันล้านเซลล์ โดยภายในขวบปีแรกเซลล์สมองจะเติบโตถึง 90% ดังนั้นการเรียนรู้ในวัยนี้ ไม่ว่าจะเรียนรู้จากสายตาของแม่และลูก การโอบกอด การรอคอยแม่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือการกระตุ้นสมองให้เรียนรู้ เมื่อลูกได้เรียนรู้การแสดงออกทางพฤติกรรมที่หลากหลาย จะยิ่งไปกระตุ้นเซลล์สมองให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ยิ่งตอกย้ำถึงประโยชน์ของนมแม่ต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อยไว้ว่า การสัมผัสโอบกอดลูกช่วยกระตุ้นเส้นใยประสาท ทำให้มีการแตกแขนงของโยงใยประสาทในสมองมากขึ้น อีกทั้งการ พูดคุยกับลูก มีการสื่อสารทางสายตาระหว่างแม่-ลูก และสารอาหาร เช่น DHA ในนมแม่ล้วนส่งผลต่อระดับเชาว์ปัญญาในเด็กที่กินนมแม่ จะเห็นได้จากผลการวิจัยของ Lucas A และคณะ (1992) พบว่า ปริมาณนมแม่ที่ให้กับทารกมีผลโดยตรงต่อคะแนนเชาว์ปัญญา โดยเฉพาะค่าคะแนนทางด้านการพูด (verbal scale) สูงกว่าทารกที่ไม่ได้รับนมแม่ถึง 9 จุด นั่นคือ ยิ่งให้น้ำนมแม่เป็นระยะเวลานานมากขึ้นเท่าใด ก็จะมีผลให้สมองพัฒนามากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ นมแม่ยังมีผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ด้วย จากผลการวิจัยเพื่อศึกษาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่โดย ดร.วีณา จีระแพทย์ และคณะ พบว่า เด็กกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยของความฉลาดทางอารมณ์โดยรวมและรายด้าน (ด้านดี เก่ง และสุข) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมแม่ร่วมกับนมผสม และของกลุ่มเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสมร่วมกับอาหารเสริมอื่นๆ และยังพบว่าระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยของความฉลาดทางอารมณ์โดยรวมสูงกว่าของกลุ่มที่ได้นมแม่อย่างเดียว 4 เดือน และ 1 เดือน
ดังนั้นเมื่อลูกได้กินนมแม่ล้วนตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน และกินนมแม่ควบคู่อาหารตามวัยไปจนถึง 2 ปีนั้น แสดงให้เห็นว่านี่คือ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาความชาญฉลาดทางสมองและทางอารมณ์ เมื่อทักษะในการบริหารของสมองส่วนหน้า Executive Functions (EF) ที่กำกับความคิด การรู้สึก การกระทำให้ไปสู่เป้าหมายได้ถูกพัฒนา โอกาสที่เด็กเติบโตมาอย่างเป็นคนที่มีคุณภาพนั้นเรียกได้ว่า 100 % เลยทีเดียว
รู้จัก Executive Functions (EF) หรือทักษะในการบริหารของสมองส่วนหน้า
สมองส่วนหน้าเป็นส่วนที่กำกับความคิด ความรู้สึก การกระทำที่ไปสู่เป้าหมาย โดยเป็นศักยภาพที่มนุษย์ทุกคนมีแต่กำเนิด และต้องได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นทักษะและความสามารถ ซึ่งพัฒนาอย่างมากในช่วงอายุ 3-6 ปี วงจรประสาทจะเชื่อมโยงกับสมองส่วนอื่นและค่อยๆ รวมกัน จนมีประสิทธิภาพในช่วงอายุ 25-30 ปี และนำไปสู่กระบวนการคิดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต
กลุ่มทักษะ EF ที่สำคัญมีทั้งหมด 9 ด้าน
1.ทักษะความจำที่นำมาใช้งาน (Working Memory) คือ ทักษะจำหรือเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และดึงมาใช้ประโยชน์ตามสถานการณ์ที่พบเจอ เด็กที่ทักษะนี้ดี ไอคิวก็จะดีด้วย
2.ทักษะการยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) คือ ความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
3.ทักษะการยืดหยุ่นความคิด (Shift Cognitive Flexibility) คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ยึดตายตัว
4.ทักษะการใส่ใจจดจ่อ (Focus) คือ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่าง ต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง
5.การควบคุมอารมณ์ (Emotion Control) คือ ความสามารถในการควบคุมแสดงออกทางอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เด็กที่ควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่ได้ มักเป็นคนโกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว และอาจมีอาการซึมเศร้า
6.การประเมินตัวเอง (Self-Monitoring) คือ การสะท้อน ตรึกตรองการกระทำของตนเอง รู้จักตนเอง สามารถประเมินเพื่อหาข้อบกพร่องตัวเองได้
7.การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำตามที่คิด ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
8.การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ (Planning and Organizing) คือ ทักษะการทำงาน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การวางแผน การมองเห็นภาพรวม ซึ่งเด็กที่ขาดทักษะนี้จะวางแผนไม่เป็น ทำให้งานมีปัญหา
9.การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) คือ ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจและลงมือทำสิ่งใดแล้ว ก็มีความมุ่งมั่นอดทน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ก็พร้อมฝ่าฟันให้สำเร็จ
สำหรับเด็กที่มีทักษะสมองส่วนหน้าอ่อนแอ มีแนวโน้มทำให้เรียนไม่จบ สูบบุหรี่ ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ ติดสารเสพติด และก่ออาชญากรรม ทั้งนี้ ระดับของทักษะการกำกับตนเอง หรือทักษะเชิงบริหารนั้น มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวในหลายๆ ด้าน ทั้งทักษะทางด้านสังคม การปฏิสัมพันธ์ ผลการเรียน และสุขภาพ
สรุปโดยรวมแล้ว EF เกี่ยวข้องกับความสำเร็จอย่างไร รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า มีงานวิจัยมากมายระบุว่าเด็กที่มี EF ดี จะมีความพร้อมทางการเรียนมากกว่าเด็กที่ EF ไม่ดี และประสบความสำเร็จได้ในการเรียนทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ไปถึงมหาวิทยาลัย จนกระทั่ง ในการทำงาน เด็กที่หยุดได้ ไตร่ตรองเป็น ไม่หุนหันพลันแล่น มีเป้าหมาย และทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ นี่แหละจะทำให้เขาประสบความสำเร็จเมื่อโตขึ้น
"มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาพร้อมทักษะ EF แต่เราเกิดมาพร้อมศักยภาพที่จะพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ ผ่านการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” รศ.ดร.นวลจันทร์ กล่าว
เมื่อ ‘นมแม่’ คือจุดเริ่มต้นของการสานสัมพันธ์แม่ลูก นำไปสู่การกระตุ้นเซลล์สมองนับล้านเซลล์ ทำให้นำมาสู่กระบวนการพัฒนาทักษะสมองหน้า ซึ่งจะพัฒนาไปคู่กับพัฒนาการตามวัยของเด็ก และนำมาสู่การสร้างเด็กที่มีคุณภาพในสังคม ทำให้เราย้อนกลับมามองเส้นทางสร้างคนแล้วล่ะค่ะว่า เพียงแค่แม่คนหนึ่งมุ่งมั่นตั้งใจให้นมแม่กับลูกก็สามารถทำให้เกิดประชากรคุณภาพของประเทศไทยได้นับล้านๆ คน ย่อมเป็นเรื่องที่แม่ทุกคนควรสนับสนุนอย่างยิ่ง
เนื้อหาอื่นๆ
เคล็ดลับเพิ่มสายใยระหว่างพ่อแม่ลูก
ครอบครัว คือ ที่ที่สร้างความสุขให้เรา รวมถึงเป็นที่พักพิงใจ
อ่านต่อ..
'นมแม่' รากฐานแห่งชีวิต
เพราะนมแม่ คือวัคซีนหยดแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อย และเสริมภูมิคุ้มกัน
อ่านต่อ..
ป้องกันโรคติดเชื้อใน Nursery
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเพิ่มเติมนั่นคือ การระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรค
อ่านต่อ..
'ขนมเด็ก' ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
ขนมเด็กคืออะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อ ขนมเด็กอาจจะเรียกเป็น ปัจจัยที่ 5 หรือ 6 ของเด็กไปแล้ว
อ่านต่อ..