พัฒนาการ IQ&EQ
พัฒนาการ IQ&EQ
» ชวนลูกพูดเสริมพัฒนาการ
25 Apr 2016 14:00
จริงๆ แล้วการพูดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเรามองข้ามพัฒนาการด้านภาษาของเจ้าตัวเล็กในช่วงวัยนี้ไป แล้วไปฝึกพัฒนากันใหม่ตอนโต..จะทำได้ยากมาก การที่ลูกของเราจะมีพัฒนาการการพูด และพัฒนาการทางด้านภาษาในเด็กได้ดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ของพ่อแม่และโรงเรียนในช่วงวัยอนุบาลนี่แหละ
รู้จักพัฒนาการด้านการพูดของเจ้าวัยซน
ขั้นตอนสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้เป็นอันดับแรกคือ เรื่องพัฒนาการ ว่าเด็กในแต่ละวัยเขามีการพูดที่ต่างกันอย่างไรบ้าง เด็กวัยอนุบาลแต่ละคน ก็มีพัฒนาการที่แตกต่างกันออกไป ถึงแม้การพัฒนาของเด็กในช่วงนี้จะพัฒนาอย่างรวดเร็วก็จริง แต่ต้องเป็นไปตามวัยและควรมีการฝึกฝนด้วยแล้วจะช่วยให้พัฒนาการพูดได้เร็ว ขึ้นค่ะ
เจ้าหนูวัยอนุบาล 1
ลูกจะรู้จักคำมากขึ้น โดยพูดออกมาเป็นคำๆ
• พูดเป็นคำๆ สั้นๆ ยังไม่เป็นประโยคเท่าไหร่ เช่น หิว อิ่ม หรือถ้าเป็นประโยคก็เป็นประโยคที่สั้น ไม่ค่อยชัดเจน เช่น พ่อไปไหน กิน(ไอ)ติม เป็นต้น
• เด็กวัยนี้จะคอยฟังเวลาที่ผู้ใหญ่พูดกัน หรือบางทีก็ถามโน่นถามนี่ แต่สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ห้ามละเลยการตอบคำถามของลูก ตอบลูกด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เพราะนี่เป็นวิธีช่วยลูกฝึกภาษาได้อย่างดีเชียว
• เด็กบางคนอาจจะพูดติดอ่างบ้าง ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะส่วนใหญ่ที่เด็กติดอ่าง มาจากความคิดของลูกไปไวกว่าคำพูด เลยเกิดอาการติดอ่างกันบ้าง เราก็ช่วยลูกได้โดยทำใจตัวเองให้เย็นๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ฟังลูกพูด ความสงบและความสบายใจจะทำให้ลูกดีขึ้นค่ะ แต่ห้ามไปย้ำเรื่องที่ลูกติดอ่างนะคะ เพราะว่าลูกอาจจะติดอ่างมากขึ้นไปอีก
เจ้าหนูวัยอนุบาล 2
พัฒนาการของเด็กวัยนี้จะเพิ่มมากขึ้นค่ะ คลังคำศัพท์ที่อยู่ในความจำของลูกจะเพิ่มขึ้นกว่าตอนอนุบาล 1 เด็กในวัยนี้จะช่างซักถามมากขึ้น ชอบฟังกลอน ฟังนิทาน และชอบฟังเรื่องสนุกๆค่ะ
• ลูกจะพูดคำใหม่ๆ ให้ได้ยิน และพูดเป็นประโยคมากขึ้น
• เริ่มพูดมีเหตุผลมากขึ้น เมื่อถามอะไรก็สามารถโต้ตอบเรื่องราวได้ หรือเวลาอ่านนิทานให้ฟังก็สามารถจับใจความจากเรื่องที่ฟังได้บ้างแล้ว
• จำคำพูดจากคนรอบข้างมาพูด เพราะฉะนั้นช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังสำหรับคำพูดที่ไม่สุภาพนะคะ
• เด็กวัยนี้สามารถบอกชื่อ นามสกุลตัวเองได้แล้วค่ะ และอาจจะบอกชื่อของคนในครอบครัวได้ด้วย
• สามารถเล่าเหตุการณ์ข่าวสารได้บ้างแล้ว
เจ้าหนูวัยอนุบาล 3
นอกจากทักษะการพูดแล้ว การเขียน การฟัง การอ่านก็พัฒนามากขึ้นด้วย เด็กจะมีสมาธิกับการฟังมากขึ้น จับใจความได้ อ่านหนังสือได้มากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นนิทานสั้นๆ เรื่องที่ชอบอาจจะอ่านได้จบเล่มเลยค่ะ
• ในเด็กวัยนี้นอกจากคำศัพท์จะเยอะขึ้นแล้ว เหตุผลที่ใช้ในการโต้ตอบพูดคุยก็ยาวขึ้น ประโยคในการพูดของเด็กวัยนี้ก็จะเป็นประโยคที่ยาวขึ้น
• คำบางคำก็มาจากการเลียนเสียงผู้ใหญ่ เห็นได้จากเวลาเด็กๆ เล่นบทบาทสมมติ แล้วเลียนเสียงพ่อแม่หรือเสียงครู
• ชอบร้องเพลง จดจำเรื่องราวในหนังสือนิทานได้มากขึ้น
เสริมพัฒนาการให้เจ้าตัวซน
ใครๆ ก็อยากจะให้ลูกเป็นเด็กช่างพูด พูดจารู้เรื่อง ฉะฉาน เสียงดังฟังชัด ทั้งนั้น แต่วิธีไหนบ้าง ที่จะทำให้ลูกเราเป็นเด็กช่างพูดอย่างที่ว่ามา... มาดูเคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการและความเชื่อมั่นในการพูดให้กับเจ้าตัวซนกัน ค่ะ
1. เป็นแบบอย่างที่ดี ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกก่อน เพราะอะไรก็ตามที่พ่อแม่แสดงออกไปเด็กๆ จะเลียนแบบหมด คุณพูดเร็ว ลูกก็พูดเร็ว เพราะฉะนั้นพูดกับลูกช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ สบตาลูก ออกอักขระให้ชัดเจนด้วย
2. ชวนลูกพูดคุย คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดคุยกับลูกเยอะๆ อย่าทิ้งให้ลูกต้องเล่นของเล่นอยู่คนเดียวหรือขลุกอยู่กับพี่เลี้ยง ทั้งวัน เพราะถ้าพี่เลี้ยงบางคนที่พูดไม่ชัด ลูกเราอาจจะพูดตามสำเนียงของคนที่เขาอยู่ด้วยได้ค่ะ
3. อย่าเร่งให้ลูกพูด พ่อแม่บางคนใจร้อนค่ะ กลัวว่าลูกจะพูดช้า เป็นธรรมดาที่เด็กผู้ชายจะพูดช้า หรือพูดน้อยกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นแค่ในช่วงหนึ่งเท่านั้น พอพ้นช่วงนี้ไปพัฒนาการจะเป็นไปตามปกติ ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องให้กำลังใจ ฟังลูกพูด อย่าไปดุหรือใจร้อน โมโหใส่ลูก เพราะจะทำให้ลูกเครียด
4. ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ไม่ถึงกับห้ามเปรียบเทียบ แต่ขอให้เป็นภาพกว้างๆ เพราะในรายละเอียดแล้ว เด็กแต่ละคนการพัฒนาช้าเร็วจะไม่เท่ากันค่ะ
5. ให้ความสนใจเวลาที่ลูกคุยกับเรา หรือมีเรื่องมาเล่าให้ฟัง จะทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของลูก เพราะถ้าฟังผ่านๆ แบบขอไปที นอกจากจะไม่ช่วยในเรื่องพัฒนาการแล้ว ลูกจะไม่อยากพูดกับเราอีก เพราะพูดไปไม่มีใครสนใจฟังเลย
6. อย่ารำคาญเวลาที่ลูกกลายเป็นเด็กช่างซัก ถ้าเขาถามอะไรก็ตอบลูกไปค่ะ ตอบทุกคำถาม ตอบแบบง่ายๆ ไม่ต้องยาว เพราะนี่คือการช่วยฝึกพัฒนาการในเรื่องภาษาให้ลูกได้อีกวิธีหนึ่ง
7. อย่าต่อว่าเวลาลูกพูดผิด ให้ช่วยแก้ไขด้วยการพูดให้ลูกฟังซ้ำแบบช้าๆ ชัดๆ อย่าไปบอกเด็ดขาดว่าลูกพูดผิด ต้องพูดแบบนี้สิ แบบนั้นสิ เช่น "ลูกบอกว่าหนูอยากดูโท-ตั้ด" เราก็พูดใหม่ช้าๆให้ลูกฟังว่า "หนูอยากดูโทรทัศน์ใช่มั้ยลูก" อย่างนี้เป็นต้นค่ะ
8. อ่านหนังสือนิทาน บทกลอน เปิดเพลงให้ลูกฟัง การอ่านนิทานหรือบทกลอนให้ลูกฟัง จะทำให้เขาได้เรียนรู้คำใหม่ๆ หัดจำประโยคที่เขาสนใจ
ทำไมพัฒนาการหนูถึงล่าช้า
พัฒนาการล่าช้า หมายถึง ไม่สามารถทำในสิ่งที่เด็กวัยเดียวกันทำได้ หรือทำได้ช้ากว่ามากๆ อย่างเช่น เด็ก 3 ขวบต้องพูดแล้ว ถ้ายังไม่พูด ถือว่าพัฒนาการล่าช้าแล้ว มาดูกันว่าเพราะเหตุใดที่ทำให้พัฒนาการด้านการพูดของเจ้าตัวยุ่งล่าช้า
1. ลูกมีความผิดปกติที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือไม่ เช่น การได้ยิน หรือมีปัญหากับการออกเสียง ถึงทำให้ลูกไม่ยอมพูดหรือมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุ
2. สิ่งแวดล้อม พ่อแม่ที่ชอบปล่อยลูกไว้กับทีวี จะทำให้เด็กได้สื่อสารทางเดียว คือมีหน้าที่ดูและฟัง ไม่มีโอกาสได้โต้ตอบหรือฝึกพูดแล้วมีคนฟัง มีคนคอยแก้ไขให้เขาพูดได้ถูกต้อง
3. ความเคยชิน นั่นคือตัวเด็กเองไม่มีปัญหาอะไร แต่คนรอบข้างสร้างความเคยชินให้เด็กพูดไม่ชัด เช่น บ้านที่มีอยู่เป็นครอบครัวใหญ่แล้วอาจจะมีปู่ย่าตายายเป็นคนจีน พูดสำเนียงจีนกับเขา ไม่แปลกใจ ถ้าลูกเราจะพูดไม่ชัดซักที
4. ความกลัว เด็กบางคนกลัวคนแปลกหน้า กลัวสถานที่ หรือ สภาพแวดล้อมใหม่ๆ ทำให้เด็กไม่กล้าพูด คุณอาจต้องขอความร่วมมือกับทางโรงเรียน ว่าลูกเราเป็นคนที่ค่อนข้างขี้กลัว ขอให้คุณครูช่วยดูแลเป็นพิเศษ หรือให้คุณครูเข้าหาลูกของเราด้วยท่าทีที่เป็นมิตร สร้างความไว้วางใจให้กับเด็ก เมื่อความกลัวหายไปพัฒนาการของเด็กจะกลับมาดีเหมือนเดิมค่ะ
เด็กในช่วงวัยอนุบาลเป็นช่วงที่มีการพัฒนาทางภาษาเร็วมาก ทุกช่วงของรอยต่อมีความสำคัญต่อการต่อยอดทั้งสิ้น การดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่เริ่มแรกจะช่วยให้เด็กมีพื้นฐานและสามารถพัฒนาต่อไป ได้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่การพูดเท่านั้น พัฒนาการทางภาษาจะส่งผลถึงการพัฒนาการของเด็กในทุกๆ ด้าน ในทางตรงกันข้ามหากพ่อแม่หรือโรงเรียนละเลยช่วงเวลาที่สำคัญนี้ เมื่อโตขึ้นพัฒนาการในด้านนี้จะพัฒนาได้ช้าลง อาจส่งผลกระทบถึงพัฒนาการด้านอื่น เพราะฉะนั้นยอมลงทุนกันตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อที่ว่าเมล็ดพันธุ์ต้นเล็กๆ ของพวกเราจะได้เติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก อาจารย์ ธิดา พิทักษ์สันติสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา และคุณครูบุษนีย์ สมญาประเสริฐ คุณครูโรงเรียนจิตตเมตต์
จาก : Kidscovery
เรียบเรียง: Momypedia
เนื้อหาอื่นๆ
เล่นแบบไทยๆ ก็เสริมพัฒนาการลูกได้
“การเล่น” มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเด็ก
อ่านต่อ..
‘จ๊ะเอ๋’ กิจกรรมง่ายๆ เสริมพัฒนาการลูก
เชื่อว่าทุกครอบครัวคงเคยเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกหลานหรือเด็กเล็กกันมาแล้วทั้งนั้น
อ่านต่อ..
สูตรลับ...เสริมพัฒนาลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือ กิจวัตรประจำวัน
อ่านต่อ..