พัฒนาการ IQ&EQ
พัฒนาการ IQ&EQ
» วิเคราะห์หลากปัจจัยฉุดเด็กไทย ‘ไอคิวตํ่า’เร่งพัฒนาถูกหลัก เพิ่มพูนสติปัญญา
09 Jun 2015 15:51

          “การลงทุนในเด็กปฐมวัยจะได้รับกลับคืนในอนาคต7-10เท่านั่นคือหากลงทุน1บาทจะได้ผลกลับคืนถึง7-10บาทโดยพบว่าเด็กที่ได้รับสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิตจะมีพัฒนาทางร่างกายอารมณ์และสติปัญญาที่ดีกว่ามีโอกาสเข้าเรียนจนถึงอุดมศึกษาสูงกว่า”“

          เด็ก คือ อนาคตของชาติ การสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็ก โดยเฉพาะ “เด็กปฐมวัย” จะช่วยให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งทางจิตใจ ความคิด และสติปัญญา อย่างถูกต้อง เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป      

          จากงานสัมมนาของ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และยูนิเซฟ ประเทศไทย เรื่อง การพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัยกับการคุ้มครองทางสังคม พบว่า ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย (อายุตั้งแต่ 0-5 ปี) ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 ของเด็กเล็กในประเทศมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่สูงมาก โดยพบว่า มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า ถึง 20 เปอร์ เซ็นต์ ตามด้วยพัฒนาการทางปฏิภาณไหวพริบและการเข้ากับสังคม อีก 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพัฒนาการทั้ง 2 ด้านจะมีผลกระทบต่อระดับสติปัญญา      (ไอคิว) ทักษะการอ่าน เขียนและคำนวณ

          โดยสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กมีพัฒนาการล่าช้า มาจากการขาดภาวะโภชนาการที่ดีและมีคุณค่า โดยเฉพาะการไม่เห็นความสำคัญของอาหารเช้าและเกลือแร่ที่มีผลต่อสมอง รวมทั้ง ปัจจัยการเลี้ยงดูหรือคนเลี้ยงดูมีปัญหา โดยเฉพาะในครอบครัวเดี่ยวที่มีถึง 30% ซึ่งโอกาสการเลี้ยงดูลูกมีน้อย เด็กจึงอยู่ในความดูแลของพี่เลี้ยงเด็ก สถานรับเลี้ยงเด็กและศูนย์เด็กเล็ก หากไม่มีการเล่านิทานหรือการเล่นต่าง ๆ ก็จะส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาเด็กอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการใช้สื่อโทรทัศน์หรือสมาร์ทโฟนกับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งควรใช้วิธีเล่านิทานหรือการเล่นเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งหมด

          นอกจากนี้ ยังพบว่า ช่วงอายุ 0-5 ปี เป็นช่วงสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ดังนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กจึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด จากผลการศึกษาของ เจมส์ เฮกแมน                    นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2542 พบว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยจะได้รับกลับคืนในอนาคต 7-10 เท่า นั่นคือ หากลงทุน 1 บาท จะได้ผลกลับคืนถึง 7-10 บาท โดยพบว่า เด็กที่ได้รับสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิตจะมีพัฒนาทางร่าง กาย อารมณ์ (อีคิว) และสติปัญญา (ไอคิว)ที่ดีกว่า มีโอกาสเข้าเรียนจนถึงอุดมศึกษาสูงกว่า สามารถลดโอกาสการซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน ลดการก่ออาชญากรรม มีโอกาสทำงานที่ดี มีรายได้สูง เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ส่งผลให้การใช้เงินสวัสดิการรัฐน้อยลง

          การดูแลเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพนั้นต้องเริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูก ไม่ใช้เทคโนโลยีเลี้ยงลูก พญ.นพวรรณ  ศรีวงศ์พานิช รองผู้อำนวยการสถาบันราชนุกูล            กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาการและการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยให้ฟังว่า สิ่งแรก คือ ทำให้ทราบถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงและสามารถประเมินพัฒนา การที่มีลำดับขั้นตอนอย่างต่อเนื่องและมีทิศทางที่เกิดขึ้นในแต่ละวัย โดยการเจริญเติบโตของเด็กจะดำเนินไปตามแบบแผนของพัฒนาการที่มีลำดับขั้นตอนอย่างต่อเนื่องและมีทิศทางที่แน่นอน หากพัฒนาการของเด็กเป็นไปตามเกณฑ์ทั่วไปของเด็กในวัยเดียวกัน แสดงว่า มีพัฒนาการสมวัย แต่พัฒนาการใดไม่เป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าว อาจมีพัฒนาการล่าช้าหรือผิดปกติได้ จำเป็นต้องรีบค้นหาสาเหตุและแก้ไข

          ต่อมา คือ สามารถตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของเด็กได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยเด็กทุกคนมีความต้องการพื้นฐานที่สอดคล้องกับพัฒนาการทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคมและสติปัญญา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จึงจะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพที่มีอยู่ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับ          วุฒิภาวะและประสบการณ์การเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก

          อีกเรื่องหนึ่ง ทำให้ยอมรับความแตกต่างของเด็กแต่ละคนตามศักยภาพส่วนบุคคล ซึ่งความแตกต่างเฉพาะตัวของเด็กนั้นขึ้นอยู่กับอิทธิพลของพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม โดยพันธุกรรมจะเป็นปัจจัยภายในที่กำหนดคุณลักษณะทางกายภาพและขีดความสามารถที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ส่วนสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้เด็กพัฒนาเร็วขึ้นหรือล่าช้าได้ เด็กแต่ละคนจึงมีอัตราพัฒนาการที่แตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้ไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบศักยภาพของการพัฒนาในช่วงเวลาเดียวกันได้ ฉะนั้น การจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นของลักษณะกิจกรรมและระยะเวลาด้วย เพราะเด็กบางคนเล่นได้นาน เด็กบางคนเล่นไม่กี่นาทีก็ไม่เอาแล้ว“

          ตลอดจน ช่วยจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับระดับความสามารถและวิธีการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละวัย ส่งผลให้เด็กมีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น และสนใจสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงจากการเล่น ใช้จินตนาการตามความนึกคิด ความสนใจ และความสามารถของเด็ก จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้เรียนรู้ รับรู้ และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างดี และสามารถพัฒนาการไปได้จนถึงขีดสูงสุด

          พญ.นพวรรณ กล่าวด้วยว่า การเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ก็มีความสำคัญต่อเด็กปฐมวัยเช่นกัน เพราะ คณิตศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความคิด ทำให้มนุษย์คิดอย่างมีเหตุมีผล เป็นระบบ มีแบบแผน ตลอดจนมีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถาน การณ์ได้อย่างรอบคอบ นอกจากนั้น     คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์อื่น ๆ อีกหลายแขนง

          พ่อ แม่ คือ ส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ของลูกน้อย ตั้งแต่วัยเตาะแตะจนถึง 5 ปี เด็ก ๆ จะได้ใช้ทักษะนี้ในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมต่าง ๆ ที่พ่อ แม่ ทำร่วมกับเขา เช่น การนับขั้นบันไดที่เด็กขึ้นลง การแบ่งของเล่นหรือขนมให้พี่น้องหรือเพื่อน ซึ่งการพัฒนาทักษะโดยผ่านกิจกรรมเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญต่อความพร้อมของเด็กในการเข้าสู่โรงเรียน ทำให้เด็กสามารถแก้ปัญหาทางคณิต ศาสตร์ในโรงเรียนได้อย่างก้าวกระโดด“

          เด็กปฐมวัยหากได้เรียนรู้จากการปฏิบัติโดยการใช้สื่อของจริงจะส่งผลให้มีทักษะการรับรู้เชิงจำนวน เนื่องจากธรรม ชาติได้สร้างให้สมองของเด็กมีบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้เชิงจำนวน โดยมีส่วนของสมองอย่างน้อย 3 บริเวณที่เกี่ยวข้องกับทักษะการรับรู้เชิงจำนวน สองส่วนแรกอยู่ที่สมองทั้งซีกซ้ายและขวา เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ตัวเลข และบริเวณที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบจำนวน ส่วนบริเวณสุดท้ายอยู่ที่สมองซีกซ้าย  ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการนับปากเปล่าและความจำเกี่ยวกับจำนวน การคำนวณ โดยสมองทั้ง 3 ส่วนจะทำงานร่วมกัน พัฒนาการด้านการรับรู้เชิงจำนวนและคณิตศาสตร์เริ่มตั้งแต่ปฐมวัยและพัฒนาเรื่อยไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

 

พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กปฐมวัย

          โดยทั่วไปพัฒนาการปกติ แบ่งออกเป็น 5 ด้าน

          1. พัฒนาการด้านร่างกาย เป็นความสามารถของร่างกายในการทรงตัวและการเคลื่อนไหว โดยการใช้กล้ามเนื้อ     มัดใหญ่ การใช้มือและตาประสานกันในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

           2. พัฒนาการด้านสติปัญญา เป็นความสามารถในการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ กับตนเอง การรู้คิด          รู้เหตุผล และความสามารถในการแก้ปัญหา พัฒนาการด้านภาษาและการใช้มือกับตา เกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านสติปัญญา

           3. พัฒนาการด้านจิตใจ-อารมณ์ความสามารถของร่างกายในการแสดงความรู้สึกและควบคุมการแสดงออกของอารมณ์อย่างเหมาะสม รวมถึงการสร้างความรู้สึกที่ดี นับถือตนเอง

           4. พัฒนาการด้านสังคม (socialdevelopment) เป็นความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน

           5. พัฒนาการด้านจิตวิญญาณ เป็นความสามารถในการรู้จักคุณค่าของชีวิตของตนเอง สามารถเลือกดำรงชีวิตในทางสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม มีความรู้ผิดชอบชั่วดีและมีคุณธรรม“
 

 

 

 



เนื้อหาอื่นๆ
การอ่านดีกับลูกอย่างไร
การอ่านเป็นประตูสู่โลกจินตนาการของคนได้ทุกวัย
อ่านต่อ..
เล่นแบบไทยๆ ก็เสริมพัฒนาการลูกได้
“การเล่น” มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเด็ก
อ่านต่อ..
‘จ๊ะเอ๋’ กิจกรรมง่ายๆ เสริมพัฒนาการลูก
เชื่อว่าทุกครอบครัวคงเคยเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกหลานหรือเด็กเล็กกันมาแล้วทั้งนั้น
อ่านต่อ..
สูตรลับ...เสริมพัฒนาลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือ กิจวัตรประจำวัน
อ่านต่อ..