เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
» "ต้อง 11 ...7 อย่า" คัมภีร์ในการสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน
09 May 2015 21:26

 

ต้อง 11

ต้องที่ 1 ต้องชักชวนลูกน้อยให้อ่านหนังสือ

          การชักชวนที่ดีที่สุด และง่ายที่สุดคือ การที่พ่อแม่อ่านออกเสียงดัง ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือชักชวนลูกน้อยให้มาเปิดหนังสือร่วมกัน ชวนพูดชวนคุยถึงภาพที่ลูกเห็นในหนังสือ ทั้งเรื่องสี รูปทรง จำนวนนับ หรืออาจจะใช้ภาพสอนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กุ๊กไก่มีขากี่ขา..แล้วหนูมีกี่ขาเนาะ..นับ 1 .. 2 มี 2 ขาเท่ากันเลย กุ๊กไก่มีขาเอาไว้ทำอะไรนะ..เอาไว้เดินเหมือนหนูเลย

          ท่าทีในการอ่านที่พ่อแม่อ่านกับลูกที่หลากหลาย..ไม่จำกัดรูปแบบ จะสร้างความสบายอกสบายใจให้ลูกมาร่วมวงฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหน อยู่บนตัก โผล่มาจากด้านหลัง โผล่มาจากใต้รักแร้ เอนหลังนั่งอ่านด้วยกัน แล้วให้ลูกคอยช่วยเปิดหนังสือทีละหน้าทีละหน้า พ่อกับแม่จะผลัดกันอ่านคนละหน้าสอง หน้าก็ไม่ผิดกติกาอะไร..ดีเสียอีก ทุกคนจะได้มีความสุขร่วมกันในโลกของหนังสือ หรือการนั่งประจันหน้า อ่านไปมองหน้ากันไปก็เป็นสุขทั้งพ่อแม่ลูก ลูกจะได้เห็นปากของพ่อแม่ เวลาขยับพูด แล้วจำไว้เป็นแบบอย่างในการเปล่งเสียงตาม

ต้องที่ 2 ต้องแสดงท่าทางที่เป็นสุข

          พ่อแม่ต้องแสดงท่าทางที่เป็นสุข และกระตือรือร้นในทุกครั้งที่หยิบหนังสือมาอ่านกับลูก เพื่อลูกจะได้รับความสุขสนุกสนานสำราญใจในการอ่านหนังสือไปด้วย ทำให้ช่วงเวลาของการอ่านหนังสือร่วมกันประสาพ่อแม่ลูกให้เป็นช่วงเวลาหรรษาของครอบครัว

          พ่อแม่ต้องทำตัวให้เป็นธรรมชาติสบาย ๆ โดยเฉพาะเวลาที่ลูกตั้งคำถาม หรือแสดงความสงสัยพร้อมมีพฤติกรรม ใหม่ ๆ ที่ดูแปลก ๆ ก็ไม่ควรตื่นเต้น หรือขบขันกับท่าทางที่ตลก ๆ ของลูก จนออกนอกหน้า เพราะจะทำให้ลูกเกิดความสงสัย ลังเลใจ และไม่มั่นใจในการใช้เวลาในการอ่านหนังสือร่วมกับพ่อแม่ในครั้งต่อไป

          เมื่อท่าทางที่เป็นสุขแล้ว ก็เริ่มอ่านได้อ่านดี..อ่านดังฟังชัด พ่อแม่และลูกช่วยกันเลือกหนังสือสนุก ๆ ที่ลูกชอบมาผลัดกันอ่านให้ลูกฟังแล้วกระตุ้นให้ลูกออกเสียงตาม หรือถ้าลูกจำคำบางคำ ประโยคบางประโยคหรือจำเรื่องราวได้ก็ให้ออกเสียงดัง ๆ ทำเสมือนอ่านได้ไปกับพ่อแม่ หนังสือดี ๆ ที่ตลก ๆ ใช้คำที่สละสลวย นั้นจะยิ่งทำให้ลูกสนุกสนานกับการอ่านมากขึ้น

ต้องที่ 3 ต้องใช้เวลาที่เหมาะสม

          พ่อแม่ต้องเข้าใจในเรื่องระยะเวลาความสนใจของลูกว่ามีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากน้อยแค่ไหน การอ่านหนังสือให้ลูกฟังต้องเป็นระยะเวลาที่ไม่นานเกินไปจนลูกเบื่อ หรือสั้นเกินไปจนลูกหงุดหงิด ต้องสังเกตท่าทีของลูกว่าถ้ายังต้องการฟังการอ่านหนังสืออยู่ ก็อ่านต่อไปเรื่อย ๆ หรือสร้างเงื่อนไขในการอ่านกับลูกว่าจะอ่านนานเท่าไร แต่ถ้าลูกแสดงความสนใจในสิ่งอื่น หรือต้องการเล่นของเล่น พ่อแม่ก็ควรยุติการอ่าน ไม่ควรฝืนอ่านจนลูกอึดอัดขัดใจ รำคาญ

          อ่านที่ไหนก็ได้ อ่านเมื่อไรก็ได้ หลังอาหาร 3 มื้อ ก่อนเข้านอน ในรถ ขณะที่รถติด ช่วงเวลาที่รอขึ้นรถประจำทาง หรือรอคุณหมอ วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หนังสือภาพสนุก ๆ ทำให้ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นช่วงเวลาหรรษาของลูกได้ความรัก การเอาใจใส่ การให้เวลาแก่ลูกอย่างสม่ำเสมอ สามารถสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่านได้ ..แม้มีเวลาน้อย ขอให้เป็นแห่งคุณภาพและมีความหมาย

ต้องที่ 4 ต้องเลือกหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของลูก

          ต้องเข้าใจและรู้ถึงความต้องการตามวัยของลูก พ่อแม่จึงจะเลือกสรรหนังสือได้โดนใจสมวัยของลูก      การเลือกหนังสือสำหรับลูกนั้นต้องเป็นหนังสือที่มีเนื้อเรื่องสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ ไม่ยากเกินไป รูปภาพประกอบสวยงาม มีสีสันสดใส กระตุ้นเร้าและเรียกร้องความสนใจจากลูกน้อยได้ ด้วยรูปเล่มที่แข็งแรงแต่ไม่เป็นอันตราย

ต้องที่ 5 ต้องลดวัย

          บางครั้งพ่อแม่ต้องลดวัยของตนหรือทำช่องว่างของวัยระหว่างพ่อแม่ลูกให้แคบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สอดคล้องกับวัยของลูกจะได้เป็นเพื่อนเล่นที่ดีของลูก ต้องทำตัวร่วมสมัย ร่วมวัยกับลูก เล่นเป็นเล่น ร้องเป็นร้อง คลานเป็นคลาน วิ่งเป็นวิ่ง โดดเป็นโดด อย่ากังวลวัย

ต้องที่ 6 ต้องหากิจกรรมมาประกอบ

          การอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวอาจไม่สมใจลูก ก่อนการอ่าน ระหว่างการอ่านหรือหลังการอ่านหนังสือ  ถ้าพ่อแม่ตระเตรียมและทำกิจกรรมหรือเล่นกับลูก ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นง่าย ๆ ของไทยเรา จ้ำจี้ จ๊ะเอ๋             ซ่อนแอบ เป่ายิงฉุบ หรือทายปัญหาอะไรเอ่ย อย่าลืมตุ๊กตา ของเล่น หรือเกมต่าง ๆ ที่พ่อแม่สามารถนำมาอ่านไปเล่นไป อ่านไปร้องไป อ่านไปเต้นไป ลูกจะได้สนุกสนาน ไม่รู้เบื่อ

          อ้อ..ถ้าในหนังสือมีกิจกรรมแนะนำก็ร่วมกันทำตามไปเถิด..จะเกิดผล

ต้องที่ 7 ต้องต่อยอดความคิด

          พ่อแม่ต้องใช้ช่วงเวลาของการอ่านหนังสือกับลูกในการต่อยอดความคิดในทุกเรื่อง และทุกภาพที่ลูกแสดงความสนใจ แม้จะไม่สามารถสื่อสารเป็นคำพูดได้ แต่พ่อแม่ก็สามารถคาดเดาได้ไม่ยากจากท่าทางที่กระตือรือร้น หรือ แววตาที่จดจ้อง

          พ่อแม่ต้องไม่ปล่อยให้ลูกเคว้งคว้างทางความรู้สึก นี่คือการเปิดหน้าต่างแห่งการเรียนรู้ให้แก่ลูก             อย่าเอาแต่ก้มหน้าก้มตาอ่าน หลับหูหลับตาใช้ชีวิตล่ะ

ต้องที่ 8 ต้องจัดมุมหนังสือไว้ในบ้าน

          ถ้าตั้งใจจะสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่านจริง ๆ ต้องจัดมุมหนังสือไว้ในบ้าน เก็บหนังสือให้เป็นที่เป็นทาง ลูกจะได้เรียนรู้ว่าถ้าต้องการหนังสือเมื่อไรจะคลาน หรือเดินมาที่มุมนี้ จะวางหนังสือบนพื้น บนชั้นไม้หรือใส่ตะกร้า ก็ได้ตามใจชอบ ทำมุมนี้ให้เป็นมุมที่พ่อแม่ลูกและทุกคนในบ้านมาสำราญกับการอ่านหนังสือด้วยกัน ต้องไม่ลืมว่า ต้องตอบสนองอย่างเต็มอกเต็มใจทุกครั้งที่ลูกคลานหรือเดินเข้ามุมหนังสือ แล้วส่งสัญญาณด้วย การส่งเสียงพร้อมชี้นิ้วไปที่หนังสือ

ต้องที่ 9 ต้องชื่นชมและชมเชยลูก

           พ่อแม่ต้องตระหนักเสมอว่า การสร้างแรงเสริมด้วยการชื่นชม และชมเชยเมื่อลูกทำดีในทุกเรื่องและต้องทำทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อลูกหยิบหนังสือขึ้นมาดูหรืออ่าน ต้องทำใจ ถ้าลูกจะดึงทึ้ง หรือขีดเขียนหนังสือ ... ทำใจให้ได้ มองผ่านให้ได้ นั่นเป็นเพราะลูกยังไม่รู้ถึงวิธีการใช้หนังสือ

          นี่คือสิ่งที่พ่อแม่ต้องค่อย ๆ สอน อย่าจ้องที่จะสอน เพราะจะทำให้ลูกมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับหนังสือ ต้องไม่ใช้เวลาที่ลูกกำลังตั้งอกตั้งใจในการอ่านเป็นเวลาในการบ่น การสอน

ต้องที่ 10 ต้องจัดระเบียบชีวิต

          พ่อแม่ต้องจัดระเบียบชีวิต และสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เอื้อต่อการอ่านของลูก ต้องหมั่นชวนกันมาอ่านหนังสือร่วมกัน ซึ่งอาจจะตั้งกติกาในบ้านให้เอื้อต่อการสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน เช่น อ่านหนังสือทุกครั้ง      หลังจากรับประทานอาหาร 3 มื้อ ปิดโทรทัศน์ตอน 1 ทุ่ม แล้วอ่านหนังสือร่วมกัน..ก่อนนอนทุกวัน ช่วงเวลาในการอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้นอย่าจริงจังว่าต้องเป็นเวลานั้น เวลานี้

          ขอให้พ่อแม่จำไว้ว่า "อ่านเมื่อไรก็ได้ อ่านที่ไหนก็ได้" แต่ช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมที่สุดน่าจะเป็นช่วงก่อนเข้านอน ไม่ว่าจะอ่านตอนไหน.. ถ้าทำเป็นประจำ ลูกจะเกิดความเคยชิน และปฏิบัติจนเป็นนิสัย

ต้องที่ 11 ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี

          พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก หมายถึง ถ้าพ่อแม่ต้องการให้ลูกมีพฤติกรรมอย่างไร พ่อแม่ควรทำอย่างนั้นให้เป็นต้นแบบ ถ้าต้องการให้ลูกรักเป็นนักอ่าน พ่อแม่ก็ต้องเป็นต้นแบบของนักอ่านที่ดี มีหนังสือติดตัวตลอดว่างเมื่อไรอ่านเมื่อนั้น มอบหนังสือเป็นของขวัญแก่กันและกันในทุกเทศกาล และต้องทำให้เป็นนิสัย

          ถ้าทำได้ทั้ง 11 ต้อง.. ไม่นานลูกก็จะสามารถทำท่าทำทางเสมือนกำลังอ่านหนังสือได้อย่างเหมาะเจาะ       รู้ว่าจะถือถือหนังสืออย่างไร เรียกชื่อตัวละครในหนังสือได้ ที่สำคัญ คือ ลูกจะรักหนังสือ แล้วลูกรักก็จะเป็นนักอ่านได้..ไม่ยาก

 

7 อย่า

อย่าที่ 1 อย่ายัดเยียด

          พ่อแม่ไม่ควรเอาแต่ใจตัวเอง แม้จะเห็นว่าหนังสือเป็นสิ่งที่ดี การปลูกฝังให้ลูกรักหนังสือเป็นสิ่งที่ดี ก็อย่าบังคับ อย่ายัดเยียดหนังสือให้โดยไม่ดูความต้องการและภาวะอารมณ์ของลูก พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้ลูกเครียดและเกลียดหนังสือได้ พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังแล้วอย่าลืมสังเกตว่าลูกชอบหรือไม่ หากไม่ชอบก็อย่ายัดเยียด เพราะหนังสือที่พ่อแม่เห็นว่าดี อาจไม่โดนใจ ไม่ใช่หนังสือที่ดีสำหรับลูกก็ได้ นั่นหมายถึง ไม่ใช่พ่อแม่เท่านั้นที่เป็นคนเลือกหนังสือ ลูกต้องเป็นคนเลือกด้วย การยัดเยียด ยัดยู้ความรู้ให้ลูกมากเกินไป นอกจะทำให้เครียดแล้ว ยังทำลายความสดใส และแจ่มใสของลูกอย่างน่าเสียดาย

อย่าที่ 2 อย่าคาดหวังสูง

          พ่อแม่อาจจะคาดหวังว่าหนังสือจะทำให้ลูกดีในทุกด้าน ซึ่งก็จริงอยู่ ที่พ่อแม่ทุกคนย่อมปรารถนาให้ลูกเป็นคนดี มีสติปัญญา นำพาชีวิตไปได้ดีในสังคม จึงพากันคาดหวังว่าถ้าลูกรักเป็นนักอ่านแล้วหนังสือนี่แหละ..คือคำตอบ ถ้าอย่าคาดหวังสูงเช่นนี้ เมื่อลูกไม่สามารถทำได้ดังหวัง บรรยากาศในบ้านตึงเครียดแน่ ๆ ดังนั้น..

          พ่อแม่ต้องอย่าคาดหวังมากเกินไป ต้องคิดเสมอว่าลูกยังเล็ก จะทำอะไรเท่าผู้ใหญ่อย่างพ่อแม่คงไม่ได้ และอย่าเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น โดยเฉพาะเด็กที่มีพัฒนาการในบางด้านดีกว่าลูกของตน พึงเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีก้าวย่างในการเรียนรู้ต่างกัน การที่พ่อแม่ชมลูกคนอื่นว่าดี เก่ง แล้วหันมาตีตราลูกของตนว่า สู้เขาไม่ได้ ลูกจะซึมซับรับความผิดหวังไว้อย่างไม่อาจปัดป้องและจะสู้ใครเขาไม่ได้เลยจริง ๆ

           พ่อแม่หลายคนหมายมั่นปั้นมือว่าเมื่อลูกรักเป็นนักอ่านตั้งแต่ยังเล็ก ก็เกิดความคาดหวังว่าลูกจะจำและท่องคำและประโยคได้มากดังใจ อ่านได้ก็ต้องเขียนได้..คาดหวังสูงขนาดนั้น ช่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริง ๆ เพราะความคาดหวังเช่นนี้จะไปกดดันให้ลูกน้อยเป็นทุกข์ รู้ไหมว่าเด็กที่ท่องจำ แล้วพูดหรือเล่าได้ปาว ๆ เจื้อยแจ้ว อย่างนกแก้วนกขุนทองโดยที่ไม่มีความเข้าใจนั้น พอโตขึ้นอาจไม่ฉลาดอย่างที่ต้องการ ที่สำคัญ.. อาจจะพาลเบื่อหนังสือ เบื่อหน้าพ่อแม่ไปเลย

อย่าที่ 3 อย่ากังวลใจ

          เรื่องนี้ต้องรู้จักปล่อยวาง .. พ่อแม่อย่ากังวลใจไปเลย ถ้าลูกจะหยิบ จับ ตี ทึ้ง ดึง ทุบ แทะ หรือขีดเขียนหนังสือ ซึ่งต้องปล่อยให้ลูกทำตามความต้องการไปก่อน ต้องเข้าใจว่า นั่นเป็นเพราะพ่อแม่ยังไม่ได้สอนให้ลูกใช้หนังสือ ลูกจึงไม่รู้วิธีการเล่นกับหนังสือ เรื่องอย่างนี้เป็นทักษะ..ไม่ใช่เรื่องที่ลูกจะเรียนรู้ได้เอง ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องค่อย ๆ สอน อย่าตำหนิ อย่าทำโทษ อย่าด่า อย่าว่า อย่าบ่น

          เมื่อลูกจับหนังสือ..ให้อ่านหนังสือ ก็ต้องตอบสนองลูกด้วยการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ต้องเก็บเรื่องการสอนไว้ภายหลัง ไม่ควรใช้เวลาที่ลูกกำลังสนใจ และใจจดจ่ออยู่กับหนังสือ มาสอนถึงพฤติกรรมที่เหมาะ           ไม่เหมาะ ควร ไม่ควร หรือจ้ำจำจ้ำไชในเรื่องวินัยของลูกน้อย

อย่าที่ 4 อย่าจ้องแต่จะสอน

          พ่อแม่บางคนใช้เรื่องสนุก ๆ ในหนังสือ ภาพสวย ๆ และพฤติกรรมของตัวละครมาเป็นช่องทางในการอบรมบ่มสอนทั้งด้านชีวิต สัจธรรม และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เรื่องนี้..พ่อแม่ต้องเข้าใจ และเตือนตัวเองตลอดเวลานะว่า ลูกยังเล็กเกินกว่าที่พ่อแม่จะมานั่งอบรมบ่มสอนด้วยวาจา โดยเฉพาะการอ่านในครั้งแรก ๆ ต้องอ่านให้จบ ไม่ใช่อ่านไป สอนไป ถ้าเป็นอย่างนี้ ยังไง ๆ ลูกก็เบื่อ เพราะลูกต้องการฟังเรื่องราวในหนังสือ ไม่ใช่มานั่งฟังพ่อแม่สอนเรื่องนั้น เรื่องนี้ ไม่จบสิ้น

          เรื่องการสอนที่เป็นการต่อยอดจากหนังสือนั้นต้องทำในช่วงเวลาที่พอดี ๆ ไม่มากจนเกินไป เพราะถ้าทำมากไป จะทำให้ลูกเบื่อหนังสือเพราะช่วงเวลาที่ควรสนุกสนานจากการอ่านกลายเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะพูดถึงเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย และเรื่องอะไรก็ไม่รู้ที่ยากและไม่เข้าใจ

อย่าที่ 5 อย่าตั้งคำถามมากเกินไป

          การตั้งคำถามเป็นปฐมบทของการสอนให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหา และการตั้งประเด็นให้พ่อแม่ลูกได้พูดคุย ได้ขบคิด จะทำให้ลูกกล้าที่จะแสดงออกอย่างมั่นใจ แต่ถ้ามากเกินไปลูกก็เบื่อ พาลเกลียดหนังสือได้ เพราะลูกจะคิดว่าเมื่อแม่จับหนังสือ พ่อถือนิทาน กว่าจะได้ฟังเรื่องสนุก ๆ ดูภาพสวย ๆ ต้องมาคอยตอบคำถามมากมาย จนแทบไม่ได้ฟังเรื่องสนุกสนาน

อย่าที่ 6 อย่าขัดคอหรือตำหนิ

          พ่อแม่ต้องคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอนะว่าในระหว่างการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง และลูกกำลังตั้งใจฟังนั้น อย่าขัดคอหรือตำหนิลูกเป็นอันขาด อย่างเช่น ขณะที่กำลังฟังพ่อแม่อ่านหนังสือ และในเรื่องราวนั้นมีคำที่สนุก ๆ จังหวะคำดี ๆ คำแปลก ๆ เสียงที่น่าสนใจ หรือ ประโยคที่โดนใจ ลูกอาจจะเปล่งเสียงตามทันที และเมื่อลูกออกเสียงไม่ชัด หรือพูดผิด พ่อแม่อย่าขัดคอ อย่าตำหนิ หรือแสดงความเอ็นดู ด้วยการหัวเราะขบขัน เป็นอันขาด เพราะจะทำให้ลูกเกิดอาการ กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่มั่นใจในการออกเสียงครั้งต่อไป ถ้าพ่อแม่ขัดคอลูกบ่อย ๆ ลูกจะหมดความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตกับพ่อแม่และคนอื่น ๆ ในสังคม ที่สำคัญ คือ.. ลูกจะไม่รักหนังสือเพราะกลัวว่าอ่านแล้วจะโดนขัดคอ หรือโดนตำหนิ

อย่าที่ 7 อย่าแสดงความเบื่อหน่าย

          พฤติกรรมการแสดงออกของพ่อแม่มีผลต่อชีวิตลูกทั้งทางตรงและทางอ้อม เรื่องการอ่านหนังสือให้ลูกฟังนี้ พ่อแม่จึงต้องระมัดระวังท่าทีของตัวเองให้ดี และต้องมีการเตรียมตัวที่ดี..ต้องมีความพร้อมทุกครั้งที่หยิบหนังสือมาอ่านให้ลูกฟัง หยิบหนังสือ คือ การหยิบความสุข อ่านหนังสือ คือ การอ่านความสุข เมื่อพ่อแม่ตั้งใจสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน จนลูกเป็นนักอ่านจริง ๆ ต้องเตรียมความพร้อมให้ดี เพราะลูกจะมีความต้องการในการอ่านมากขึ้น แน่ ๆ พ่อแม่จะมาทำท่าเบื่อหน่ายไม่ได้

          ถ้าลูกสนใจในหนังสือ แล้วต้องการให้พ่อหรือแม่มาร่วมวงลงอ่าน ถ้าไม่สามารถทำได้ในทันที ต้องสร้างเงื่อนเวลาว่าให้แม่เสร็จงานนี้ก่อน หรือขอให้พ่อล้างรถให้เสร็จก่อนแล้วจะอ่านหนังสือที่ลูกเลือกไว้ให้ฟัง และเมื่อสัญญาแล้ว.. ต้องทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับลูก ห้ามบิดพลิ้ว ไม่เช่นนั้นจะทำให้ลูกผิดหวัง ถ้าเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ลูกจะปฏิเสธหนังสือ อย่างนี้ ลูกรักก็คงจะเป็นนักอ่านไม่ได้ เพราะพ่อแม่นั่นแหละที่เป็นตัวสกัดดาวรุ่งเสียเอง

 

 

ที่มา  หนังสือ“สร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน” โดย พี่ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์  ปิ่นประทีป



เนื้อหาอื่นๆ
เคล็ดลับเพิ่มสายใยระหว่างพ่อแม่ลูก
ครอบครัว คือ ที่ที่สร้างความสุขให้เรา รวมถึงเป็นที่พักพิงใจ
อ่านต่อ..
'นมแม่' รากฐานแห่งชีวิต
เพราะนมแม่ คือวัคซีนหยดแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อย และเสริมภูมิคุ้มกัน
อ่านต่อ..
ป้องกันโรคติดเชื้อใน Nursery
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเพิ่มเติมนั่นคือ การระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรค
อ่านต่อ..
'ขนมเด็ก' ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
ขนมเด็กคืออะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อ ขนมเด็กอาจจะเรียกเป็น ปัจจัยที่ 5 หรือ 6 ของเด็กไปแล้ว
อ่านต่อ..
อันตรายกับเด็กอ้วน
ป้องกันไม้ให้เด็กอ้วนทำอย่างไร
อ่านต่อ..