เตรียมพร้อมทักษะด้านการอ่านตั้งแต่ก้าวแรก...ของลูกน้อย |
ติดตามดูรายการ Animation ของเรื่อง เตรียมพร้อมด้านการอ่าน ตั้งแต่ก้าวแรกของลูกน้อย ได้เลยค่ะ...และคุณพ่อ คุณแม่สามารถดาวน์ไฟล์ได้ที่ Youtube.com ได้เลยนะค่ะ |
การอ่านของเด็กเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องโดยเริ่มต้นตั้งแต่ปฐมวัย การเตรียมความพร้อมทักษะด้านการอ่านจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูจะต้องฝึกทักษะเฉพาะบางอย่างตั้งแต่ช่วงปฐมวัยก่อนที่เด็กจะเข้าเรียนในชั้นอนุบาล โดยเด็กควรมีประสบการณ์ในการอ่านผ่านเรื่องราว ประสบการณ์ต่างๆที่เด็กสนใจ ทั้งการอ่านภาพจากหนังสือนิทาน อ่านเครื่องหมายและอ่านสัญลักษณ์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะทางภาษา ส่งเสริมทักษะการฟัง กระตุ้นจินตนาการและความคิดรวบยอดเป็นการพัฒนาศักยภาพสมองเด็กปฐมวัยผ่านการอ่าน
ครูคนแรกของหนู
เด็กที่อ่านหนังสือได้ปกติจะมีการทำงานเชื่อมโยงกันของสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสัญลักษณ์และสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษา องค์ประกอบพื้นฐานหลักที่ทำให้เด็กอ่านหนังสือออก ได้แก่ การที่เด็กมีจำนวนคำศัพท์มากในสมอง รู้จักเสียงในภาษา สิ่งแวดล้อมของเด็กและการที่เด็กรู้จักตัวอักษรและสัญลักษณ์
ในระยะแรกเกิดเด็กทุกคนจะมีความสามารถในการฟังเสียงของภาษาที่แตกต่างกันแต่ละภาษาได้คล้ายๆกัน ต่อมาเด็กจะเริ่มแยกแยะเสียงที่เหมือนหรือต่างกันได้ จากนั้นจึงเริ่มเชื่อมโยงเสียงกับความหมาย โดยเมื่ออายุ 8-9 เดือน เด็กจะเริ่มสามารถรับรู้ความแตกต่างของหน่วยเสียงที่มีอยู่ในภาษาของพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูได้ และจะเริ่มปรับความสามารถในการฟังให้เข้ากับหน่วยเสียงและไวยากรณ์เฉพาะในภาษาของพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู จึงถือว่าพ่อแม่เป็นผู้เปิดโลกการเรียนรู้ของลูก โดยผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น การทำกิจวัตรประจำวัน การเล่น การพูดคุย กิจกรรมเหล่านี้จะส่งเสริมให้เด็กมีจำนวนคำศัพท์มากในสมอง รู้จักเสียงในภาษา สิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านการอ่านซึ่งจะช่วยให้เด็กมีความสามารถในการอ่านหนังสือ มีการเรียนรู้ที่ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่โรงเรียน
จากงานวิจัยพบว่าถ้าให้เด็กเรียนรู้ภาษาจากครูโดยตรง เด็กจะเชื่อมโยงความหมายของเสียงกับภาพคำศัพท์ได้ดีกว่าเด็กที่เรียนจากเทปหรือวิดีโอ ดังนั้น พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้รับประสบการณ์ทางภาษา รวมทั้งสร้างความมั่นใจและให้กำลังใจลูก
ทักษะพื้นฐานด้านการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย
ทักษะหลาย ๆ ด้านสามารถเรียนรู้ได้โดยธรรมชาติในระหว่างการเจริญเติบโตของเด็กทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน พ่อแม่จะสามารถช่วยลูกในการพัฒนาทักษะนี้โดยการพูดคุยและการอ่านหนังสือด้วยกันและใช้วิธีการเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย ดังนี้
- การจับคู่ (Matching) พ่อแม่สามารถสอนให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับการจับคู่ระหว่างรูปร่าง รูปแบบ ตัวอักษร และ คำ พูดคุยกับลูกเรื่องเกมการจับคู่ เช่น จับคู่บัตรภาพกับตัวอักษร เมื่อลูกดูบัตรภาพแล้วให้ออกเสียงเรียกชื่อบัตรภาพนั้นและบอกตัวอักษรที่ตรงกับบัตรภาพพร้อมกัน
- เสียงสัมผัส (Rhyming) สอนเรื่องการบอกคำที่จบด้วยเสียงที่เหมือนกัน เล่นเกมกับลูกโดยให้บอกคำที่เสียงเหมือนกัน เล่นคำที่ออกเสียงคล้ายกัน หรือชักชวนให้ลูกร้องเพลง ต่อเพลงง่ายๆ ที่ลูกสามารถร้องได้
- ทักษะเกี่ยวกับตัวอักษร (Letter skills) สอนให้ลูกจดจำรูปร่างของตัวอักษรและเสียงของตัวอักษรให้ลูกสังเกตตัวอักษร จะช่วยให้ลูกจำได้ดีขึ้นและออกเสียงตัวอักษรนั้นให้ลูกฟัง เช่น ตัวอักษรจากหนังสือ ก ข ค หรือ A B C แม่เหล็กตัวอักษรบล็อกหรือภาพตัดต่อ (puzzles) ที่เป็นตัวพยัญชนะ แผ่นภาพพยัญชนะ หรือเป็นของเล่นเด็กที่กดแล้วมีเสียงเป็นคำอ่านแล้วให้ลูกพูดตาม อ่านหนังสือกับลูกโดยพ่อแม่ชี้นิ้วไล่ไปตามคำที่อ่าน
- ทิศทาง (Direction) สอนเรื่องตัวอักษรเรียงจากด้านซ้ายไปด้านขวา วิธีการอ่านหนังสือว่าต้องเริ่มจากซ้ายไปขวาและจากบนลงล่าง
- ทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ (Motor skills) การฝึกเขียนตัวอักษรและคำต่าง ๆ จะช่วยให้ลูกซึมซับการอ่านได้ดีขึ้น สอนให้ลูกฝึกเขียนตัวอักษรและคำโดยเลือกใช้ดินสอที่เหมาะกับมือของลูกจะช่วยให้เขาควบคุมการเขียนได้ดี เล่นกับลูกโดยใช้กิจกรรมที่เน้นการใช้กล้ามเนื้อ เช่น การขยำ การบีบ การฉีก การตัด
- ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับภาพพิมพ์ (Concepts of print) สอนเรื่องวิธีการใช้หนังสือว่าต้องเปิดจากขวาไปซ้าย รูปภาพที่แสดงเป็นรูปประกอบคำในหนังสือนั้น เนื้อเรื่องมีการเริ่มต้น กลางเรื่องและตอนจบ ขณะอ่านอาจใช้คำถามเพื่อให้ลูกมีส่วนร่วม หรือพาลูกไปร้านหนังสือในวันหยุด ให้เขาได้เลือกซื้อหนังสือที่เขาสนใจและเหมาะสมกับวัย หลังการอ่านแล้วใช้คำถามเพื่อให้ลูกมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่ได้อ่าน
- ทักษะด้านภาษา (Language skills) พ่อแม่ควรทราบว่ายิ่งลูกมีประสบการณ์เกี่ยวกับภาษามากก็ยิ่งทำให้ลูกเรียนรู้การอ่านได้ง่ายขึ้น พ่อแม่จะช่วยให้ลูกมีทักษะด้านภาษาได้โดยการให้เขามีส่วนร่วมในการฟังและพูดคุยสนทนาทั้งกับผู้ใหญ่และกับเด็กด้วยกัน เพื่อให้ลูกได้พบเจอกับคำศัพท์ที่แปลกไปจากชีวิตประจำวัน รู้จักการใช้คำที่เหมาะกับคู่สนทนา ฝึกให้ลูกฟังเรื่องเล่าหรือบทกวีต่าง ๆ เป็นต้น
อ้างอิง
1. Pre-Reading Skills. Available from http://www.familylearning.org.uk/pre-reading_skills.html.
2 .Six Essential Pre-Reading Skills. Available from http://www.richland.lib.wa.us/index.aspx?NID=163.
3. Kuhl. P. Brain mechanisms underlying the critical period for language : linking theory and practice. Human Neuroplasticity and Education. Available from http://www.casinapioiv.va/content/dam/accademia/pdf/sv117/sv117-kuhl.pdf.
4. Kuhl P, Tsao FM, Liu HM. Foreign-language experience in infancy : effect of short-term exposure and social interaction on phonetic learning. Available from http://www.pnas.org/content/100/15/9096.full.pdf+html.
ที่ปรึกษา
1. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล
2. รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก
ภาควิขากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
3. อาจารย์สันติสุข สันติศาสนสุข นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ
4. พญ.นพวรรณ ศรีวงค์พานิช นายแพทย์เชี่ยวชาญ
คณะผู้จัดทำ
1. พญ.อาภาภรณ์ พึ่งยอด นายแพทย์ชำนาญการ
2. พญ.วรวรรณ จงสง่าวิทยาเลิศ นายแพทย์ชำนาญการ
3. ทพญ.พิมพ์พิไล ลิ้มสมวงศ์ ทันตแพทย์ชำนาญการ
4. นางอรวรรณ จูศิริพงษ์กุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
5. นางสาวสุพรทิพย์ ภุมมา นักวิชาการศึกษาพิเศษชำนาญการ
6. นางรุจิรัตน์ จันทร์เนตร นักวิชาการศึกษาพิเศษชำนาญการ
7. นางนายอรา สาอุ นักวิชาการศึกษา
8. นางณัฐชนก สุวรรณานนท์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ