เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
เกร็ดน่ารู้คู่คุณแม่
» เด็กๆก็เป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ อย่าละเลยอันตรายถึงชีวิต!
15 Jun 2017 11:51

การเกิดนิ่วถุงน้ำดีในเด็กมีตัวเลขเพิ่มขึ้นสูงกว่าเมื่อก่อนมาก แต่หากรีบสังเกตอาการและรับการรักษาด้วยเทคโนโลยีใหมๆ คือผ่าตัดผ่านกล้อง เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อันตรายถึงชีวิต!!...

“ถุงน้ำดี” เป็นถุงเล็กๆ อยู่ใต้ตับ เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เก็บสะสมน้ำดีที่ผลิตโดยตับที่ส่งมาทางท่อน้ำดี และส่งไปผสมกับอาหารและทำการย่อยไขมัน รวมถึงกำจัดของเสียที่ออกมาจากตับและคอเลสเตอรอลออกจากร่างกาย

หากเราดูแลถุงน้ำดีไม่ดีก็สามารถเกิดโรคได้นั่นคือ “นิ่วในถุงน้ำดี” พญ.สุพัตรา ชารีแก้ว กุมารศัลยแพทย์ รพ.เด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ ให้ความรู้ว่า โรคนี้ส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่ สำหรับในเด็กสามารถพบได้ไม่เยอะ แต่ ณ วันนี้มีตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเมื่อก่อนมาก ประมาณ 1.46-1.9% โดยมีปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งสาเหตุการเกิดจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ (ผู้ใหญ่จะพบนิ่ว Cholesterol มากที่สุด)...

ส่วนในเด็กมักเป็นนิ่ว Black pigment ที่เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือด ในผู้ป่วยโรคเลือด นิ่ว Calcium carbonate และนิ่ว Cholesterol เป็นสาเหตุรองลงมา ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีในเด็กๆ คือ โรคที่มีการแตกตัวของเม็ดเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมียโรคที่มีความผิดปกติของทางเดินน้ำ ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน และสาเหตุอื่นๆ เช่น ได้รับสารอาหารทางเลือด ได้รับยาบางชนิด พันธุกรรม เป็นต้น

เริ่มแรกอาการของนิ่วในถุงน้ำดีจะยังไม่แสดง แต่เมื่อถุงน้ำดีบีบตัวเพื่อขับน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็ก นิ่วจะถูกขับเคลื่อนไปกับน้ำดีไปสู่ปากทางออก ซึ่งนิ่วอาจไปอุดกั้นทางออก ทำให้เกิดอาการปวดท้องด้านบนขวาขึ้นมาทันทีทันใด ความปวดมักไม่เท่ากัน ถ้าเคลื่อนที่กลับเข้าไปในถุงน้ำดีอาการปวดก็จะหายไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่นิ่วเคลื่อนตัวไปมากกว่านั้นไปอุดตันท่อของถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดีร่วมกับตับ จะทำให้เกิดอาการอักเสบ ทำให้มีอาการมากขึ้นกว่าเดิม

ได้แก่ ไข้สูงและหนาวสั่น ตัวเหลือง ตาเหลือง และคันตามตัว ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม และอุจจาระซีด

การตรวจวินิจฉัย หรือตรวจหานิ่วในถุงน้ำดีทำได้หลายวิธี กรณีไม่ฉุกเฉินเร่งด่วน แพทย์จะนัดเด็กมาทำอัลตร้าซาวน์ เป็นการตรวจยืนยันนิ่วที่มีความน่าเชื่อถือมาก แต่ไม่ค่อยดีสำหรับการตรวจหานิ่วในท่อน้ำดี จึงต้องตรวจการทำงานของตับเพิ่ม เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่??

อีกวิธีคือ ส่องกล้อง เข้าไปทางปากผู้ป่วยเด็ก แล้วสอดสายเข้าไปในท่อน้ำดีร่วม ฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในท่อน้ำดี เพื่อถ่ายเอ็กซเรย์ดู ภาพจะทำให้เราเห็นว่ามีนิ่วในท่อน้ำดีหรือไม่ ถ้ามีก็สามารถตัดและขยายปากท่อน้ำดีให้กว้างขึ้น แล้วสอดสายสวนคล้องนิ่วออกจากท่อน้ำดี

นอกจากการส่องกล้องแล้ว นิ่วในท่อน้ำดียังสามารถตรวจเห็นได้จากการทำ เอ็มอาร์ซีพี (MRCP : Magnetic Resonance Cholangio Pancreatography) แม้ว่าจะเป็นการตรวจที่ไม่ต้องโดนรังสีเอ็กซ์ ไม่เจ็บไม่ปวด แต่มีข้อเสีย คือเห็นภาพอย่างเดียวไม่สามารถผ่าตัดหรือคล้องนิ่วออกมาได้

อย่างไรก็ตามการรักษาโรคในเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความพร้อมและความเชี่ยวชาญของแพทย์เป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับเด็กเช่นกัน โดยเฉพาะหากวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคนิ่วในถุงนน้ำดีต้องได้รับการผ่าตัด!!

การรักษาด้วยการผ่าตัด แม้ว่าการผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดีจะมีความเสี่ยงมากกว่าการปล่อยนิ่วไว้เฉยๆ แต่เนื่องจาก 70 % ของเด็กที่เคยปวดท้องจากนิ่วจะมีอาการเกิดขึ้นอีกภายใน 2 ปี หากไม่ได้รับการผ่าตัดเอานิ่วออก ในบางกรณีอาจเกิดอาการเลวร้ายจากภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา เช่น ถุงน้ำดีอักเสบรุนแรง นิ่วเลื่อนไปอุดตันท่อน้ำดีจนเกิดการติดเชื้อในท่อน้ำดี อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากรักษาไม่ทัน!!

การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี ส่วนมากไม่ยุ่งยาก คือผ่าตัดโดยวิธีเปิด ซึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ คือ “การผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง” มาใช้กับเด็กๆ ได้แล้ว 100 % โดยการเจาะรู 3-4 รู เพื่อใส่กล้องเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็ก ซึ่งเริ่มจากขนาดเล็กสุดตั้งแต่ 2-5 มม. จากนั้นจะมีเครื่องมือเข้าไปผ่าตัดเอาถุงนิ่วน้ำดีพร้อมนำนิ่วออกมาทางรูที่เจาะไว้

การผ่าตัดแบบนี้จะทำให้แผลเล็กลงกว่าแผลผ่าตัดใหญ่ทั่วไปมาก ทำให้เด็กเล็กๆ มีอาการเจ็บแผลน้อยลง พักฟื้นน้อยลงสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น หรือไปเรียนหนังสือได้เร็วขึ้นไม่ต้องเสียโอกาสในการศึกษา ถือว่าเป็นประโยชน์กับเด็กๆ มาก

ฉะนั้นหากพ่อแม่ผู้ปกครองทราบแบบนี้แล้วควรสังเกตอาการดูว่า ลูกน้อยมีอาการที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือไม่?? เพื่อรับการรักษาก่อนสาย!!

 

คอลัมน์ : Healthy Clean  เดลินิวส์

โดย “ชญานิษฐ คงเดชศักดา”  



เนื้อหาอื่นๆ
เคล็ดลับเพิ่มสายใยระหว่างพ่อแม่ลูก
ครอบครัว คือ ที่ที่สร้างความสุขให้เรา รวมถึงเป็นที่พักพิงใจ
อ่านต่อ..
'นมแม่' รากฐานแห่งชีวิต
เพราะนมแม่ คือวัคซีนหยดแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อย และเสริมภูมิคุ้มกัน
อ่านต่อ..
ป้องกันโรคติดเชื้อใน Nursery
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเพิ่มเติมนั่นคือ การระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรค
อ่านต่อ..
'ขนมเด็ก' ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?
ขนมเด็กคืออะไร ด้วยอิทธิพลของสื่อ ขนมเด็กอาจจะเรียกเป็น ปัจจัยที่ 5 หรือ 6 ของเด็กไปแล้ว
อ่านต่อ..
อันตรายกับเด็กอ้วน
ป้องกันไม้ให้เด็กอ้วนทำอย่างไร
อ่านต่อ..