พัฒนาการ IQ&EQ
พัฒนาการ IQ&EQ
» การอ่านดีกับลูกอย่างไร
02 Apr 2018 16:00

การอ่านเป็นประตูสู่โลกจินตนาการของคนได้ทุกวัย นับได้ตั้งแต่ก่อน 1 ขวบ จนกระทั่งวัยหลังเกษียณ และการปลูกฝังนิสัยรักการตั้งแต่วัยเด็กอย่างสม่ำเสมอ ยังแฝงประตูความรอบรู้เอาไว้ด้วย เพราะทักษะการอ่านออกเชื่อมโยงกับการเขียนได้ และการอ่านออกเขียนได้ก็เป็นสิ่งสำคัญในการเอาตัวรอดในการใช้ชีวิตประจำวัน

สำหรับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่วัยเด็กนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมได้ด้วยการเลือกหาหนังสือให้เหมาะกับช่วงวัยของลูก โดยเด็ก วัยก่อน 1 ปี ควรเลือกหนังสือที่มีภาพขนาดใหญ่ ทนทาน ทำความสะอาดได้ ทำด้วยวัสดุที่ปลอดภัย มีสีสันสดใส วัย 1-2 ปี มีภาพคนและสัตว์ เรื่องราวสั้นๆ มีคำคล้องจอง ใช้ตัวอักษรตัวโตๆ กระดาษหนา ทนทานให้เด็กเปิดอ่านเองได้ง่าย ช่วง 2-3 ปี เนื้อหาควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งรอบตัวและกิจวัตรประจำวันง่ายๆ ที่ลูกสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และ ช่วงวัย 4-6 ปี ควรเลือกหนังสือที่มีเนื้อเรื่องบ่มเพาะนิสัยที่พึงประสงค์ให้กับเด็ก เช่น การดูแลสุขภาพ การมีวินัย เนื้อหาหรือเรื่องราวต้องทำให้ลูกเกิดอารมณ์ร่วมเพราะกระทบความรู้สึกนึกคิดบางอย่างหรือเชื่อมโยงกับการเรียนรู้รอบๆ ตัว มีภาษาที่สละสลวย ไพเราะ คำคล้องจองที่อ่านอย่างมีจังหวะนั้น ยังเหมาะสำหรับลูกวัยนี้อยู่มาก ที่สำคัญคือ ตัวอักษรที่ใหญ่ ชัดเจน มีหัว เพื่อลูกจะได้จำรูปแบบตัวอักษร รูปแบบคำ และรูปแบบประโยคอย่างถูกต้อง    

ซึ่งการอ่านให้ลูกฟัง ก็มีประโยชน์มากมาย ทีมเว็บไซต์ สสส. รวบรวมข้อมูลไว้ 5 ข้อ ดังนี้

1. ลูกเรียนรู้จากการฟังและการดู ตาของเด็กจะได้มองภาพสวยๆ ไปพร้อมกับเรื่องราวที่ได้ฟังจากที่พ่อแม่เล่าหรืออ่าน ทำให้เด็กจะได้เรียนรู้ว่าภาพที่เห็นคืออะไร เรียกว่าอะไร มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

2. ลูกเกิดจินตนาการ จากการคิดตามเนื้อเรื่องที่ได้ฟัง อาจเป็นเรื่องแฟนตาซีที่ไม่มีอยู่จริงก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เพราะจินตนาการคือพื้นฐานสำคัญก่อนที่จะต่อยอดไปสู่การคิดหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผลในขั้นต่อไป

3. สมองของลูกถูกกระตุ้นให้คิดและเรียนรู้ เมื่อพ่อแม่เล่านิทานแสนสนุก และชวนคิด ชวนถามให้ลูกตอบ กระตุ้นการใช้ความคิด ชวนให้สนใจ ยิ่งลูกคิดบ่อยๆ มากเท่าไรสมองของลูกก็จะยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่านั้น

4. ลูกเกิดการเรียนรู้ภาษา การใช้ภาษาหรือคำพูดของพ่อแม่ในการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ทั้งสำเนียงการพูด ภาษา ภายใต้น้ำเสียงที่อ่อนโยนและเติมจังหวะจะโคนแบบต่างๆ ให้น่าสนใจ จะเป็นการเพิ่มคลังคำศัพท์ให้กับลูก และเขาจะรู้จักการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องตามพ่อแม่ นำไปสู่การเรียนรู้ภาษาจากประสาทสัมผัสทางหู และเมื่อมีการชี้ตามคำในแต่ละหน้า จะทำให้เด็กคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ตัวอักษรต่างๆ เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนจะมีผลทางบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อทักษะการอ่าน การเรียนรู้ เช่น ภาษา การคำนวณ และการคิด

5. ลูกมีความสุขที่ได้อยู่กับพ่อแม่ การอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกครั้งทำให้เกิดความผูกพันและสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น (attachment) ซึ่งจะประทับอยู่ในใจของลูกไปจนโต สายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นนี้เองที่มีส่วนช่วยเหนี่ยวรั้งไม่ให้ลูกทำอะไรออกนอกลู่นอกทางยากในอนาคต

และสำหรับพ่อแม่มือใหม่ก็สามารถเลือกหนังสือมาเล่าอ่านให้ลูกฟังได้อย่างหลากหลาย ทั้ง หนังสือนิทาน ที่เป็นหนังสือในดวงใจของเด็กทุกคน หนังสือทำมือด้วยรักจากใจพ่อแม่ ก็สามารถนำเอาภาพวาด ภาพถ่ายจากครอบครัวมารวบรวมเป็นเรื่องเล่าให้ลูกซึมซับได้ หรือจะเป็น การอ่านจากสิ่งรอบตัว ที่สามารถอ่านได้จากทุกที่ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปเล่มเสมอไป เช่น กล่องนม ขวดสบู่ ป้ายชื่อร้านค้า ป้ายบอกทาง ก็สามารถเชื่อมโยงสู่การดำเนินในชีวิตจริงได้เช่นกัน

การอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน เป็นการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่มีค่าให้แก่เด็กๆ เพราะการอ่าน ไม่ใช่แค่เพียงอ่านแล้วผ่านพ้นไป แต่เป็นการเปิดประตูบานใหญ่ออกสู่โลกแห่งจินตนาการที่น่าค้นหาแก่เด็กๆ นะคะ       

 

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : คู่มือสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก



เนื้อหาอื่นๆ
เล่นแบบไทยๆ ก็เสริมพัฒนาการลูกได้
“การเล่น” มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเด็ก
อ่านต่อ..
‘จ๊ะเอ๋’ กิจกรรมง่ายๆ เสริมพัฒนาการลูก
เชื่อว่าทุกครอบครัวคงเคยเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกหลานหรือเด็กเล็กกันมาแล้วทั้งนั้น
อ่านต่อ..
สูตรลับ...เสริมพัฒนาลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือ กิจวัตรประจำวัน
อ่านต่อ..
กระต่ายไม่ตื่นตูม นิทานยุคใหม่ ให้เด็กรู้ทันสื่อดิจิทัล
ต้องยอมรับกันอย่างไร้เงื่อนไขว่า ไม่มีใครปฏิเสธ “สื่อในยุคดิจิทัล”
อ่านต่อ..