เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
…รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้ให้ดี...
เริ่มต้นด้วยเพลงนี้ ต้องคุ้นหูสำหรับรุ่นคุณพ่อ คุณแม่แน่นอน ที่ได้ยินแล้วคงนึกย้อนไปในวัยเด็ก ซึ่งปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไปการละเล่นแบบไทยๆ ก็เหมือนจะเลือนหายไปด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าการเล่นแบบไทยมีประโยชน์ที่ช่วยในการเสริมพัฒนาการของลูกไม่น้อยเลยทีเดียว
“การเล่น” มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเด็ก ข้อมูลจาก โครงการ “ออกมาเล่น Active play” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า การเล่น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของเด็ก เมื่อเด็กเล่นเขาจะแสดงพฤติกรรมอันเป็นความสามารถส่วนรวมในระดับที่มีอยู่ในตัวเขาออกมา คือ ความสามารถในการใช้ร่างกาย การใช้ความคิด การใช้ภาษา การแสดงออกทางอารมณ์ และ การสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งเห็นได้ชักว่า การเล่น สามารถเสริมพัฒนาการแก่เด็กได้เป็นอย่างดี
ล่าสุดในกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติปี 2561 สสส.ได้นำกิจกรรมการละเล่นไทยมาเป็นธีมหลักของงานเพื่อให้เด็กยุคปัจจุบันได้สัมผัสการละเล่นในอดีตที่สนุกและได้ประโยชน์ โดย นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ให้ข้อมูลว่า การละเล่นแบบไทยๆ มีคุณค่าและมีประโยชน์ไม่แพ้การเล่นแบบสมัยใหม่เลยโดย ช่วยเสริมทักษะ EF ที่เป็นกระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้า ที่ใช้บริหารจัดการในชีวิตเรื่องต่าง ๆ โดยเมื่อเด็กได้รับกิจกรรมที่ช่วยเสริมพัฒนาด้าน EF จะทำให้เด็กมีสร้างพฤติกรรมเชิงบวก มีการตัดสินใจในทางที่สร้างสรรค์ รู้จักยับยั้งควบคุมตนเองไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสมได้ นอกจากนี้ กาละเล่นแบบไทย ยังเกี่ยวข้องกับ กิจกรรมทางกาย (Physical Activities หรือ PA) หมายถึง การเคลื่อนไหวโดยใช้กล้ามเนื้อโครงสร้างและทำให้มีการใช้พลังงานของร่างกายช่วนให้ร่างกายและสุขภาพของเด็กแข็งแรง
ตัวอย่าง การละเล่นแบบไทยๆ เสริมพัฒนาการ
รีรีข้าวสาร ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ฝึกให้เด็กมีไหวพริบ ปฏิภาณ รู้จักใช้กลยุทธที่จะให้ตนรอดจากการถูกคล้องตัวไว้ และฝึกการเล่นรวมกับกลุ่มเพื่อน มีการสื่อสารพูดคุย และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น
วิธีการเล่น ผู้เล่น 2 คนยืนหันหน้าเข้าหากันโน้มตัวประสานมือกันเป็นรูปซุ้ม ส่วนผู้อื่นเกาะเอวต่อ ๆ กันตามลำดับ หัวแถวจะพาลอดใต้ซุ้มมือพร้อมกับร้องบทร้องประกอบการเล่น “รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือกเด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน คอยพานคนข้างหลังไว้” เมื่อร้องถึงประโยคที่ว่า “คอยพานคนข้างหลังไว้” ผู้ที่ประสานมือเป็นซุ้มจะลดมือลงกันคนสุดท้ายไว้ ซึ่งคนสุดท้ายจะถูกคัดออกไปจากแถว แล้วจึงเริ่มต้นเล่นใหม่ทำเช่นนั้นจนหมดคน
หมากเก็บ ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือ ความว่องไว เนื่องจากการเล่นต้องใช้สมาธิในการโยนแล้วรับ ส่งผลต่อการพัฒนาสมอง
วิธีการเล่น ใช้สิ่งสมมติเป็นหมาก 5 ก้อนเริ่มต้นด้วยการทอด คือ การเทปล่อยให้หมากทั้ง 5 กระจาย ไปบนพื้นกระดานถ้าก้อนไหนอยู่ห่างถือเป็นตัวนำและขึ้นต้นด้วยหมากหนึ่ง คือ หยิบนำลูกไว้ต่างหากโยนขึ้นไป แล้วปล่อย 4 ลูกกระจายบนพื้นทีละลูก และรับลูกที่โยนให้ได้ ในขณะเดียวกันถ้าเก็บได้หมดก็ต่อหมาก 2 หมาก 3 หมาก 4 ต่อไปด้วยวิธีเล่นแบบเดียวกัน แต่ถ้าเก็บลูก 3 ลูกพร้อมกันเรียกว่า หมาก 3 แล้วจึงเก็บอีก 1 ลูก ถ้ารวมหมดเรียกว่า หมาก4 และลูกโยนนั้นจะตกไม่ได้ ถ้าตกนับเป็นได้ ต้องให้คนอื่นเล่นต่อไป
การทำว่าว เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ ชวนลูกทำว่าวเล่นเอง จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ให้ลูกได้ออกแบบว่าวในรูปแบบของตนเอง เสริมพัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการปลูกฝังให้ลูกได้รู้จักของเล่นพื้นบ้านแบบไทย สืบสานวัฒนาธรรมไทยอีกด้วย
ว่าวที่นิยมเล่นกัน คือ ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวหง่าว โดยว่าวจุฬา มีโครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุก 5 ชิ้น มีจำปา 5 ดอกทำด้วยไม้ไผ่ยาว 8 นิ้ว เหลากลมโตประมาณ 3 มิลลิเมตร จำปา 1 ดอกมีจำนวนไม้ 8 อันมัดแน่นกับสายป่านที่ชักว่าวจุฬาอันเป็นอาวุธที่ใช้ต่อสู้กับปักเป้า
ว่าวปักเป้า มีโครงสร้างประกอบด้วยไม้ไผ่สีสุกเหลากลม 2 ชิ้นมีเหนียงเป็นเชือกยาว 8 เมตรผูกปลายทั้งสองข้างให้หย่อนเป็นสายรูปครึ่งวงกลมเพื่อคล้องตัวว่าวจุฬา ให้เสียสมดุลจึงตกลงพื้นดิน
ว่าวหง่าว ทำด้วยโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษสา ลำตัวตอนบนมีรูปคล้ายอกว่าวจุฬามีเอวคอดและท่อนล่างกว่าท่อนบน ตอนส่วนหัวมีไม้ไผ่เหลาและขึงเชือกเหมือนคันธนู ส่วนขึงเชือกนี้จะเกิดเสียงเมื่อต้องลม เสียงนี้ช่วยกำจัดความชั่วร้ายได้
ปัจจุบันว่าวที่มีการเล่นโดยทั่วไปได้มีการ พัฒนารูปแบบการเล่นเพื่อความสวยงาม โดยทำว่าวให้เป็นรูปแบบที่แปลกแตกต่างกันออกไปเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ว่าวงู ว่าวผีเสื้อ ฯ ลฯ
เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น กลายเป็นหนึ่งตัวการที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวลดลง การชวนลูกเล่น นอกจากช่วยพัฒนาการด้านต่าง ๆ เมื่อพ่อแม่เข้ามาร่วมเล่นกับลูกทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเติบโตได้อย่างเหมาะสม มีพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และจิตใจ