พัฒนาการ IQ&EQ
พัฒนาการ IQ&EQ
» เทคนิคเตรียมอ่าน...ตามวัย
29 Aug 2014 11:00
 
เทคนิคเตรียมอ่าน...ตามวัย
ติดตามดูรายการ Animation ของเรื่อง เทคนิคเตรียมการอ่านในเด็กปฐมวัย ได้เลยค่ะ...และคุณพ่อ คุณแม่สามารถดาวน์ไฟล์ได้ที่ Youtube.com ได้เลยนะค่ะ

เทคนิคเตรียมอ่าน...ตามวัย                  

  • วัยทารก การพูดคุยสนทนาเป็นประจำ จะสอนให้ลูกเริ่มรับรู้ความแตกต่างของหน่วยเสียงที่มีอยู่ในทุกภาษา คุ้นเคยกับภาษา แยกแยะความแตกต่างของเสียง การโอบกอดลูก ให้ลูกนั่งตักเล่านิทานให้ลูกฟัง จึงเป็นสัมผัสของความรักและเรียนรู้อย่างเป็นสุข
  • วัยเตาะแตะ เล่านิทานที่มีคำคล้องจอง เล่นคำ พ่อแม่อุ้มลูกนั่งตักอ่านหนังสือให้เขาฟังโดยใช้มือชี้ไล่ไปตามตัวหนังสือ ลูกจะได้เรียนรู้ว่าเสียงที่เขาได้ยินมาจากตัวหนังสือที่เขาได้เห็น เมื่อได้ยินได้เห็นบ่อยๆเขาก็จะจำได้และสามารถไล่มือไปตามตัวอักษรตามเสียงที่ได้ยินได้ แม้จะยังอ่านหนังสือไม่ออกก็ตาม เด็กจะให้ความสนใจเสียงที่เด็กไม่สามารถพูดได้ เด็กจะชี้และพยายามออกเสียงตามตัวอักษรเมื่อเด็กอ่านหนังสือ
  • วัยก่อนเรียน เด็กวัยนี้มักจะชอบฟังเพลง พ่อแม่ควรหาเพลงที่มีคำคล้องจองหรือร้องเพลงที่มีการสัมผัสของคำ สอนการท่องคำกลอนพร้อมจังหวะ  เริ่มสอนให้รู้จักชื่อของตนเพื่อให้คุ้นเคย เกิดการจดจำตัวอักษร การเล่นทายคำช่วยในการจดจำคำ
  • วัยอนุบาล เมื่อถึงวัยที่เด็กรู้จักตัวหนังสือตัวอักษร เขาก็จะจดจำตัวอักษรจากเรื่องที่อ่านได้ง่ายขึ้น เด็กจะดูหนังสือเรื่องที่ชอบ พูดข้อความในหนังสือด้วยภาษาของตนทำท่าทางเหมือนอ่านหนังสือ

ตัวอย่างอุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาทักษะด้านการอ่านเบื้องต้น

          สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเราพ่อแม่สามารถนำมาสร้างเป็นสื่ออุปกรณ์ที่ช่วยกระตุ้นและพัฒนาความสามารถในการอ่านได้

  • หนังสือภาพ หนังสือภาพที่ลูกชอบ ชวนลูกเล่าเรื่องจากภาพหรืออ่านเรื่องให้ฟัง ถึงแม้ลูกจะยังไม่สามารถอ่านได้แต่การที่พ่อแม่อ่านให้ฟังบ่อย ๆ จะทำให้ลูกคุ้นเคยกับคำต่าง ๆ ได้ดี
  • สมุดภาพ เช่น ภาพสัญลักษณ์หรือโลโก้โฆษณาต่าง ๆ ที่ลูกคุ้นเคยหรือเห็นบ่อย ๆ โดยลูกจะรู้ว่าสัญลักษณ์นี้หมายถึงอะไร ถึงแม้จะอ่านไม่ออก  พ่อแม่ควรหานิตยสาร หนังสือพิมพ์ กระดาษ กรรไกร กาว และชวนลูกตัดภาพต่าง ๆที่คุ้นเคยมาแปะเก็บไว้เพื่อทำเป็นหนังสือภาพของตัวเอง
  • บัตรภาพเรียงลำดับเหตุการณ์ หาบัตรภาพแล้วให้ลูกฝึกเรียงลำดับว่าเหตุการณ์ใดเกิดก่อนหลัง และเล่าเรื่องจากภาพที่เรียงนั้น  ในบางครั้งลูกอาจจะเรียงลำดับต่างไปจากที่พ่อแม่คิดก็ได้ สิ่งนี้จะช่วยสอนลูกเรื่องลำดับเหตุการณ์ การเริ่มต้น ระหว่างทาง และตอนจบ
  • เล่าเรื่องจากภาพ อาจใช้ภาพถ่ายหรือภาพจากนิตยสารก็ได้ ชวนลูกเล่าเรื่องจากภาพนั้น ๆ ชวนลูกคุยหรือตั้งคำถามว่ามีใครทำอะไรบ้าง เพราะอะไรเขาจึงทำแบบนั้น โดยให้ความมั่นใจกับลูกว่าไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด เพราะเรื่องที่เล่านั้นเกิดจากจินตนาการ
  • บัตรคำ ตัดกระดาษและเขียนชื่อสิ่งของในชีวิตประจำวันที่พบเห็นบ่อย ๆ นำไปติดไว้ตามสิ่งต่าง ๆ ในบ้าน จะช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับคำเหล่านี้ได้เร็วขึ้น
  • ตัวอักษรแม่เหล็ก  โดยอักษรที่ออกเสียงเหมือนกันควรเป็นสีเดียวกัน  นำอักษรแม่เหล็กมาสอนว่าตัวอักษรแต่ละตัวมีชื่อว่าอะไรและมีลักษณะเหมือนอะไรที่ลูกเคยเห็น ต่อมาจึงเริ่มนำอักษรมาเรียงเป็นคำง่าย ๆ ให้ลูกฝึกอ่าน สิ่งนี้จะช่วยให้เขาเรียนรู้เสียงย่อยของคำได้ด้วย
  • เกมทายเสียง โดยหาอุปกรณ์ ที่มีเสียง เช่น กระดิ่ง กระพรวน แล้วเขย่าให้เกิดเสียง หรือพ่อแม่ทำเสียงเลียนแบบเสียงสัตว์ เพื่อให้ลูกทายว่าเสียงที่ได้ยินคืออะไร

สรุป

            การอ่านของเด็กปฐมวัยเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องและเริ่มตั้งแต่วัยทารก โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูพูดคุย  ชี้ชวนให้เด็กๆ ดูรูป ภาพในหนังสือ อ่านหนังสือให้ฟัง การอ่านหนังสือให้เด็กฟังจึงเป็นกระบวนการที่ควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิด  การอ่านหนังสือและเล่านิทานให้เด็กปฐมวัยตั้งแต่ก่อน ๓ ขวบฟัง จึงเป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนา ทักษะทางภาษา ส่งเสริมทักษะการฟัง กระตุ้นจินตนาการและความคิดรวบยอด เพิ่มพูนประสบการณ์และ เป็นแบบอย่างที่ดีในการเรียนรู้ผ่านการอ่าน ตลอดจนพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู   ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก

อ้างอิง

1. Pre-Reading Skills. Available from http://www.familylearning.org.uk/pre-reading_skills.html.

2 .Six Essential Pre-Reading Skills. Available from http://www.richland.lib.wa.us/index.aspx?NID=163.

3. Kuhl. P. Brain mechanisms underlying the critical period for language : linking theory and practice. Human Neuroplasticity and Education. Available from http://www.casinapioiv.va/content/dam/accademia/pdf/sv117/sv117-kuhl.pdf.

4. Kuhl P, Tsao FM, Liu HM. Foreign-language experience in infancy : effect of short-term exposure and social interaction on phonetic learning. Available from  http://www.pnas.org/content/100/15/9096.full.pdf+html.

 

ที่ปรึกษา

               1. พญ.อัมพร             เบญจพลพิทักษ์      ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล

               2. รศ.พญ.นิชรา        เรืองดารกานนท์      หัวหน้าหน่วยพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก

                                              ภาควิขากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

3. อาจารย์สันติสุข       สันติศาสนสุข        นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ

4. พญ.นพวรรณ          ศรีวงค์พานิช           นายแพทย์เชี่ยวชาญ

 

คณะผู้จัดทำ

1. พญ.อาภาภรณ์         พึ่งยอด                     นายแพทย์ชำนาญการ

2. พญ.วรวรรณ            จงสง่าวิทยาเลิศ         นายแพทย์ชำนาญการ

3. ทพญ.พิมพ์พิไล       ลิ้มสมวงศ์                  ทันตแพทย์ชำนาญการ

4. นางอรวรรณ            จูศิริพงษ์กุล                พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

5. นางสาวสุพรทิพย์     ภุมมา                         นักวิชาการศึกษาพิเศษชำนาญการ

6. นางรุจิรัตน์             จันทร์เนตร                    นักวิชาการศึกษาพิเศษชำนาญการ

7. นางนายอรา            สาอุ                            นักวิชาการศึกษา

8. นางณัฐชนก            สุวรรณานนท์               นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ

 

 

 

 

 



เนื้อหาอื่นๆ
การอ่านดีกับลูกอย่างไร
การอ่านเป็นประตูสู่โลกจินตนาการของคนได้ทุกวัย
อ่านต่อ..
เล่นแบบไทยๆ ก็เสริมพัฒนาการลูกได้
“การเล่น” มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเด็ก
อ่านต่อ..
‘จ๊ะเอ๋’ กิจกรรมง่ายๆ เสริมพัฒนาการลูก
เชื่อว่าทุกครอบครัวคงเคยเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกหลานหรือเด็กเล็กกันมาแล้วทั้งนั้น
อ่านต่อ..
สูตรลับ...เสริมพัฒนาลูกน้อย
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือ กิจวัตรประจำวัน
อ่านต่อ..